top of page

การบำบัดด้วยบทกวี : Poetry Therapy

  • รูปภาพนักเขียน: Reader Center
    Reader Center
  • 13 พ.ค. 2563
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 15 พ.ค. 2563




การบำบัดด้วยบทกวี : Poetry Therapy

บทกวี คือการตอบสนองของสิ่งที่ซ่อนเร้นภายใน ที่มีต่อความปิติ ความทุกข์ และสิ่งลี้ลับทั้งหมดที่โอบล้อมชีวิตไว้ มันคือบทเพลง หรือการถอนหายใจ หรือการร้องไห้ และมักจะรวมกันทั้งหมด

กวีบำบัด หรือ Poetry Therapy ได้รับความสนใจกันในวงการแพทย์ตะวันตก เพราะบทกวีสามารถเชื่อมความเป็นตัวตนของคนเรากับสิ่งอื่นๆ โดยประสบการณ์ที่ถูกกลั่นออกมา โดยจังหวะ โดยถ้อยคำ ในรูปแบบที่ไม่มีการสื่อสารอื่นใดจะทำได้ และบทกวีก็ช่วยบรรเทาความโดดเดี่ยว ซึ่งเราทุกคนเป็นเหมือนๆ กัน

นักกวีบำบัดได้กล่าวว่า บทกวีมีในตัวของทุกคน ความสามารถของแต่ละคนที่จะท่องไปหาแหล่งของความคิดสร้างสรรค์นั้นง่ายและเป็นธรรมชาติ บทกวีจะสอนเราเกี่ยวกับตัวเราเองและโลกได้มากมาย เพราะรูปแบบและเสียงที่ทำให้ได้สื่อสารภายในกับตัวเอง

ประโยชน์อย่างหนึ่งของการอ่านและเขียนบทกวีไม่ใช่เพียงช่วยให้รู้ความหมายของ “ฉัน” เท่านั้น แต่ยังทำให้คนเราหนักแน่นขึ้น นี่เป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก กระบวนการที่จะเชื่อมเรากับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา กับทั้งหลายทั้งปวงที่ดีและสวยงาม และเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเรามิได้อยู่เพียงลำพังบนโลก แต่เป็นส่วนหนึ่ง และรวมกันเป็นหนึ่งกับทุกสิ่งที่มีอยู่ การรักและเคารพตัวเองก็จะมากขึ้น

คำว่า “บำบัด (therapy)” มาจากภาษากรีกที่ว่า therapeia หมายถึง พยาบาลหรือรักษาโดยการเต้นรำ ร้องเพลง บทกวี และการละคร ซึ่งเป็นศิลปะแห่งการแสดงออก ในตำนานของกรีก อัสเซลพิอุส เทพเจ้าแห่งการรักษา เป็นบุตรของอพอลโล เทพเจ้าแห่งบทกวี การแพทย์และศิลปะ

ถึงแม้ว่าการใช้บทกวีมาบำบัดโรคจะเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างใหม่ แต่หากย้อนพิจารณาจะพบว่า กวีบำบัดมีมาตั้งแต่โบราณกาล ที่มีการร้องเพลงรอบกองไฟของชนเผ่าโบราณ บทสวด เพลง บทกวี คือสิ่งที่รักษาจิตวิญญาณ แม้แต่คำว่า “จิตวิทยา (psychology)” ก็มาจากคำว่า psyche ซึ่งหมายถึง วิญญาณ และ logos ที่หมายถึง คำพูดหรือถ้อยคำ และในเทพนิยายกรีก โอซิอานัส บอกกับโพมิธิอุสว่า “คำพูดคือหมอของโรคทางใจ”

ถึงแม้จะมีการบันทึกว่า มีแพทย์ยุคโรมันชื่อโซรานุส ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 สั่งยาด้วยบทกวีและการละครให้คนไข้ของเขา แต่การโยงระหว่างบทกวีกับการแพทย์ก็ยังไม่มีการบันทึกเป็นเอกสาร

ในโลกยุคใหม่ โรงพยาบาลแห่งแรกในอเมริกาที่สนใจการป่วยทางจิต คือโรงพยาบาลเพนซิลวาเนีย ซึ่งก่อตั้งในปี 1751 โดยเบนจามิน แฟรงคลิน ได้ดำเนินการให้มีการรักษาคนไข้หลายๆ วิธีประกอบกัน รวมถึงการอ่าน การเขียน และตีพิมพ์งานเขียนของคนไข้ในหนังสือพิมพ์ของพวกเขาที่ชื่อว่า “ผู้ให้แสงสว่าง”

คำว่า “การรักษาโรคโดยใช้หนังสือ” หรือ “บรรณบำบัด” (Bibliotherapy) เป็นคำทั่วไปมากกว่าคำว่า “บทกวีบำบัด” อันเป็นคำที่ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งมีความหมายครอบคลุมการใช้วรรณกรรมในการช่วยเยียวยาการรักษา

ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์เรืองนามเคยเขียนไว้ว่า “ไม่ใช่ข้าพเจ้า แต่เป็นกวีที่ค้นพบจิตใต้สำนึก” และอีกครั้งที่เขาก็กล่าวว่า “จิตคืออวัยวะที่สร้างบทกวี” หลังจากนั้นนักทฤษฎีทางจิตเวชอีกหลายต่อหลายคนได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการที่วิทยาศาสตร์จำเป็นพึ่งพาการศึกษาว่าด้วยบทกวี เพื่อการบำบัดรักษาชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คน

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน

Comments


Join my mailing list

Thanks for submitting!

© 2020 by Reader Center : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน

bottom of page