เรื่องเล่าจากนักกวีบำบัด เพื่อชาวอัลไซเมอร์
ภาพวาดคือบทกวีที่ไม่มีเสียง และบทกวีก็คือภาพที่วาดขึ้นโดยการใช้ถ้อยคำ ซิโมนิเดส (556-468 ปีก่อน ค.ศ.)
“ฉันยิงศรพุ่งไปในอากาศ” ดวงตาของชายหนุ่มเบิกกว้างเป็นประกายขณะที่เขาท่องบทกวี
“แต่มิอาจรู้ว่าลูกศรจะจรสู่พื้น ณ แห่งหนใด”
ผมกำลังให้คนไข้ท่องบทกวีของเฮนรี วัดส์เวิร์ท ที่ชื่อ “ลูกศรกับเสียงเพลง” ที่ศูนย์รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะเริ่มบทกวี ชายหนุ่มคนนี้นั่งก้มหน้า ปิดตา และไม่มีท่าทีสนใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเลย แต่เมื่อเขาได้ยินถ้อยคำจากบทกวีที่เขาคุ้นเคย บางสิ่งบางอย่างก็เกิดขึ้น
ตอนแรกเขานั่งอยู่หลังห้องและเฉยเมยต่อสิ่งที่พวกเรากำลังอ่าน แต่เมื่อมาถึงบทกวีที่เขาเคยท่องได้ในสมัยเด็ก ท่าทางของเขาดูตื่นเต้นเหมือนเด็กๆ ที่กระตือรือร้นเมื่อเริ่มท่องบทกวีได้ และเขาก็พร้อมแล้วที่จะร่วมท่องบทกวีตามพวกเรา…
แกรี กลาซเนอร์ ผู้ใช้บทกวีในการเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เขียนบันทึกไว้...
ผมชอบบทกวีมาตั้งแต่เล็กๆ และมักจะสงสัยว่า บทกวีที่เราเคยชอบในสมัยเด็กจะช่วยจุดความทรงจำของคนที่เป็นโรคความจำเสื่อมได้อย่างไร เพราะบทกวีที่เราเคยชื่นชอบมักจะผุดออกมาในความทรงจำได้ทุกขณะ และสามารถเชื่อมต่อไปถึงประสบการณ์ในอดีตได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการบทกวีเพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Poetry Project) ซึ่งต้องการนำพลังของบทกวีมาใช้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม
ข้อดีประการหนึ่งของบทกวีก็คือ การเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงคนได้ในทุกๆ ระดับ พร้อมๆ ไปกับให้บางสิ่งบางอย่างกับทุกคน – ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้ป่วย” เสมอไป
บทกวีก็เหมือนกับดนตรี ที่จะคงอยู่ในความจำระยะยาว แม้คนที่เป็นโรคความจำเสื่อมก็ยังนึกออกมาได้ สำหรับผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มแรก ผลกระทบทางอารมณ์จากบทกวีที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาด้วยถ้อยคำง่ายๆ สามารถช่วยพวกเขาให้แสดงความรู้สึกออกมา เพื่อเริ่มเข้าสู่การสนทนา และนำความทรงจำเก่าๆ ของพวกเขากลับมา
ส่วนผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์ในระยะต่อๆ มา บทกวีคลาสสิคเก่าๆ จะช่วยให้พวกเขาเชื่อมความทรงจำของตัวเองได้ดีขึ้น พวกเขาจะนึกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นได้ลึกขึ้น และจุดประกายให้หวนระลึกถึงความทรงจำเก่าๆ ได้มากขึ้น
การนำตัวเองเข้าไปในจังหวะและเสียงสัมผัสของบทกวีคลาสสิค จะทำให้คนที่เป็นโรคความจำเสื่อมได้หัวเราะ เต้นรำ ร้องไห้ หรือบางครั้งก็เป็นการนำไปสู่หัวข้อสนทนาเกี่ยวกับสวนดอกไม้ที่เขาปลูก รสชาติอาหารที่เขาชอบ หรือแม้แต่สัตว์สีประหลาดที่เขาเคยพบ
บทกวีให้ทั้งความสนุกและความประทับใจ และช่วยบรรเทาอารมณ์ที่รุนแรงได้ เมื่อเราอ่านด้วยจังหวะที่หนักแน่น
ที่ศูนย์ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์มักจะท่องบทกวีร่วมกับคนไข้ หรือต่อกันคนละท่อน บางครั้งเมื่อไม่สามารถท่องตามถ้อยคำเดิมของบทกวีได้ ก็แต่งสดกันขึ้นมา เป็นโอกาสที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์กันอีกทางหนึ่ง
บางครั้ง เราก็ให้ผู้ป่วยเขียนบทกวีที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเขาเองขึ้นมา ซึ่งมักจะทำให้พวกเขาต้องพยายามโยงความคิดไปถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่เคยรัก เคยเกลียด ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ช่วยให้พวกเขาเกิดการทบทวนความจำในระดับหนึ่ง
กฎสำคัญที่จะทำให้การบำบัดด้วยบทกวีกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ผล ก็คือ การท่องบทกวีไม่ใช่ไปนั่งท่องอยู่หลังห้องคนเดียวโดยขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ดำเนินการหรือกระบวนกร (facilitator) จะต้องพยายามให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและพูดคุยแสดงความเห็นจากบทกวีที่เขาท่องหรืออ่าน
บทกวีที่เราใช้มักจะเน้นที่เสียงและจังหวะ ครั้งหนึ่งผมเปิดประชุมด้วยบทกวี “The Tyger - พยัคฆ์” ของวิลเลียม เบลก
“Tyger, tyger burning bright
In the forest of the night,”
พยัคฆ์ พยัคฆ์ จุดแสงไสว
ในพงไพรแห่งราตรีกาล
ผมท่องสองบรรทัดนี้หลายๆ รอบ และชวนให้กลุ่มลุกขึ้นมาเต้นกันตามจังหวะ ขณะที่ทุกคนกำลังหัวเราะกันสนุกสนาน ผู้หญิงคนหนึ่งมองมาทางผมและบอกว่า “คุณรู้ไหม บทกวีนี้มีมากกว่าสองบรรทัดนี้นะ” เมื่อผมท่องบทกวีต่อจนจบ เธอบอกว่า “โอ คุณก็จำได้เหมือนกันนี่”
เมื่อผมท่องท่อนสุดท้ายจากบทกวี “The Owl and the Pussy Cat - นกฮูกกับแมวแสนรัก” ของเอดเวิร์ด เลียร์
“And hand in hand on the edge of the sand
They danced by the light of the moon”
จับมือกันไว้บนชายขอบของผืนทราย
สัตว์ทั้งหลายเต้นรำใต้แสงจันทร์
ผมจะชวนให้กลุ่มจับมือกันแกว่งในท่าเต้น หรือไม่ก็ชวนใครสักคนให้มาเต้นจังหวะวอลทซ์ร่วมกับผม และมักจะเลือกคนที่ขี้อายที่สุดออกมา
บางครั้งผมก็ชวนกลุ่มให้ออกไปกลางแจ้งท่ามกลางหิมะ และชวนกันปั้นลูกบอลหิมะ พร้อมกับท่องบทกวีของโรเบิร์ต ฟรอสต์ “Stopping by the Woods on a Snow Evening - หยุดกลางป่าในเย็นวันที่หิมะตก”
“The Woods are lovely, dark and deep.
But I have promise to keep,
And miles to go before I sleep,
And miles to go before I sleep,”
ในป่านั้นชอุ่ม มืด และลึก
แต่ฉันก็สัญญาว่าจะเดินต่อไป
อีกหลายไมล์ จะต้องไปให้ถึงก่อนได้นอนพัก
อีกหลายไมล์ จะต้องไปให้ถึงก่อนได้นอนพัก
เมื่อบทกวีนี้จบ ผมก็ชวนให้พวกเขาปาลูกบอลหิมะเข้าใส่ผม ทุกคนสนุกสนานกันยกใหญ่ โรเบิร์ต ฟรอสต์ ก็คงไม่คิดว่าบทกวีของเขาจะสร้างความโกลาหลได้ถึงเพียงนี้
เพราะบทกวีมีจังหวะ มีความสนุกสนาน สั้น และนึกเป็นภาพได้ง่าย ทำให้บทกวีอยู่ในความทรงจำของคนได้นานกว่า ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จึงมักจะท่องบทกวีออกมาได้โดยง่ายดาย
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
เรียบเรียงจากบทความเรื่อง
“The Rhyme and Reason of Poetry Therapy” โดย Gary Glazner
ในวารสาร Care ADvantage (Spring 2006, p.24-27)
Comments