เพิ่มคุณภาพหมอยุคใหม่ด้วยบทกวี
- Reader Center
- 15 พ.ค. 2563
- ยาว 1 นาที

เพิ่มคุณภาพหมอยุคใหม่ด้วยบทกวี
การแสวงหาวิธีการเพื่อพัฒนาคุณภาพของบุคลากรแพทย์ให้เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาทางด้านการแพทย์ หนึ่งในวิธีการเหล่านั้น คือ การเรียนรู้ผ่าน “บทกวี” ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวที่สามารถช่วยให้นักศึกษาแพทย์ได้สำรวจตัวเอง สำรวจผู้อื่น และสำรวจสิ่งรอบๆ ตัว
ความสำคัญของบทกวีในทางการแพทย์ได้รับความสนใจในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้ และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากการจัดเวทีสัมมนาต่างๆ ตัวอย่างเช่น “การสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ เรื่องบทกวีกับการแพทย์” ที่มหาวิทยาลัยวอร์ริค มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีขึ้นในช่วงกลางปี 2012
ทำไมต้องเป็นบทกวี
ทำไมนักศึกษาแพทย์ต้อง เขียนบทกวี เกี่ยวกับประสบการณ์ในทางการแพทย์ แทนที่จะเอาเวลาไปเตรียมเสนองานอื่นๆ ที่จะต้องรียนกันแต่เช้า ทำไมนักศึกษาแพทย์ที่มีงานมากมายอยู่แล้วยังจะต้อง อ่านบทกวี แทนที่จะเอาเวลานั้นไปเขียนรายงานเกี่ยวกับกรณีของคนไข้ที่พวกเขาไปตรวจมาตามวอร์ดต่างๆ
ถึงแม้ว่าหลักสูตรของวิทยาลัยแพทย์หลายแห่งได้รวมเอา “บทกวี” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาแพทย์ และบางแห่งก็ได้จัดพิมพ์ผลงานบทกวีของนักศึกษาแพทย์รวมเป็นเล่มออกมาด้วย แต่ทว่านักศึกษาแพทย์ที่จะหันไปใช้บทกวีเพื่อให้เข้าใจในวิชาชีพของตัวเองดีขึ้นก็ยังมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม บทกวีซึ่งกำลังก้าวเข้าไปในวงการการศึกษาทางการแพทย์ สามารถช่วยให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเบื่อหน่ายกับชีวิตของนักศึกษาบรรเทาลงได้ นอกจากนี้ บทกวียังช่วยให้เข้าใจได้แจ่มชัดขึ้นถึงกระบวนการเข้าร่วมทางสังคมและสิ่งที่แพทย์ควรจะปฏิบัติ นั่นก็คือ เข้าใจในความเป็นมนุษย์และมีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย
ในปี 1994 มีงานวิจัยสำรวจจำนวนแพทย์ที่เป็นนักเขียนบทกวีในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา พบว่าในจำนวนแพทย์ 10,000 คน มี 1-2 คน ที่เป็นนักเขียนบทกวี การนำสถิติมาพูดถึงนี้มิใช่ว่าควรคาดหวังว่าอาชีพแพทย์จะต้องเป็นนักเขียนบทกวีด้วย หากแต่มีประเด็นที่น่าสนใจว่า การเขียนและอ่านบทกวีจะช่วยให้พวกเขาเป็นหมอที่ดีขึ้นได้หรือไม่
บทกวีกับการเขียนแสดงความรู้สึกนึกคิด
การเขียนบทกวีมีส่วนคล้ายกับการเขียนสะท้อนความรู้สึก (reflective writing) ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไปในวิทยาลัยแพทย์ บทกวีอาจจัดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเขียนแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา เพราะบทกวีจะกระตุ้นให้พวกเขาได้ตรึกตรองประสบการณ์ของตัวเอง บทกวีมีลักษณะพิเศษที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการใช้ภาษา มีการใช้อุปมา และให้ความใส่ใจกับเสียงและจังหวะ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราคิดถึงสิ่งใดๆ ได้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
การเขียนแสดงความคิดเห็นหรือสะท้อนความรู้สึก (reflective writing) มีประโยชน์มากในการศึกษาทางการแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อได้รับการวิจารณ์หรือสะท้อนกลับ (feedback) จากผู้เชี่ยวชาญ แต่โดยทั่วไปก็จะเป็นการเขียนในลักษณะของการบรรยายความไปตาม “สูตร” ในแบบที่อาจารย์ผู้สอนคาดหวังและถือว่า “ดี” ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการผลิตงานเขียนของนักศึกษา เพื่อให้ความเรียงนั้นเป็นไปตามที่อาจารย์คาดหมาย มากกว่าที่จะเขียนแสดงความคิดและความรู้สึกจริงๆ ออกมา
แต่ทว่าบทกวีให้คุณค่าของจินตภาพและอารมณ์ อยู่เหนือการให้เหตุผลเชิงตรรกะ บทกวีจึงฝ่าฝืน “กฎ” ได้มากกว่าร้อยแก้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ตรรกะหรือเหตุและผลซึ่งจำเป็นอย่างมากในการเขียนแบบร้อยแก้วอย่างเป็นทางการ หากต้องการจะแทรกอุปมาอุปไมย หรือแสดงถึงความรู้สึกที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเข้าไป ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้งานเขียนนั้นขาดเหตุผลและดูแปลกประหลาด ในขณะที่การเขียนบทกวี ผู้เขียนมีอิสระในการเขียนสิ่งที่รู้สึกนึกคิด ไม่ต้องกังวลถึงลำดับก่อนหลังของเหตุและผล
นักศึกษาแพทย์กับบทกวี
เมื่อหลายปีก่อน มีบทความวิจัยเรื่อง “โลกภายในของนักศึกษาแพทย์ : ฟังเสียงของพวกเขาในบทกวี” (The inner world of medical students : Listening to their voices in poetry, 2009) พ.ญ.โจฮันนา ชาพิโร ได้เขียนถึงการวิเคราะห์งานเขียนบทกวีที่เขียนโดยนักศึกษาแพทย์ประมาณ 600 ชิ้น พบว่า แก่นของเนื้อหา (theme) ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการมาเป็นหมอ สิ่งที่ได้และความกดดันจากการเป็นแพทย์ฝึกหัด สถาบันผลิตแพทย์จะเปลี่ยนแปลงนักศึกษาได้อย่างไร ความสัมพันธ์กับคนไข้ บทบาทของหมอ (ทั้งด้านบวกและด้านลบ) ความตาย และ ความหมายของชีวิต
ในด้านการเรียนการสอนในชั้นเรียน น.พ.แจ็ค คูเลฮัน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค ได้สอนนักศึกษาแพทย์ให้ชื่นชมในพลังของบทกวี ซึ่งเป็นสิ่งที่วิทยาลัยแพทย์หลายแห่งกำลังทำกันอยู่ เขาได้มอบหมายงานให้นักศึกษาแพทย์ปี 1 ที่เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ เขียนความเรียง บทกวี หรือเรื่องสั้น ที่เกี่ยวกับความรู้สึกสะท้อนใจจากการผ่าศพมนุษย์ พร้อมๆ ไปกับการมอบหมายให้นักศึกษาไปอ่านบทกวีชุดที่เกี่ยวข้องกับศพที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งเขียนโดยแพทย์
อาจารย์แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่ม นักศึกษาจะถกกันถึงประเด็นที่บทกวียกมาพูด เช่น อายุ และการเสียชีวิต ทำให้ผู้สอนได้ข้อสรุปว่าบทกวี “ทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น”
อย่างไรก็ดี ในการเขียนบทกวีของนักศึกษาแพทย์ ความเป็นเลิศในทางวรรณกรรมคงไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างแน่นอน กินนี บอลตัน ผู้สอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์และการเขียนแสดงความเห็นในวิทยาลัยแพทย์ ให้ความเห็นเชิงสรุปเกี่ยวกับบทกวี ในหนังสือ “ปฏิบัติการเขียนเพื่อพัฒนาวิชาชีพแพทย์” (Reflective practice : Writing for professional development, 2001) ว่า “บทกวีจะไม่มีคุณค่าใดเลย ตราบใดที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อผู้เขียน และไม่เป็นประโยชน์ที่เหมาะสมกับผู้อ่าน”
อย่างไรก็ดี การประเมินผลถึงคุณค่าของการเขียนและการอ่านบทกวีในการศึกษาทางการแพทย์ยังเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและมีข้อโต้แย้งกันอยู่ มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปว่า ความสามารถในการรับรู้ ตีความ และจับประเด็นในเรื่องความเจ็บป่วยของคนไข้ จะได้มาโดยผ่านการอ่านและการเขียนบทกวีจริงหรือ และยังถกเถียงกันในแง่ที่ว่า ความสามารถที่ว่านี้เชื่อมโยงไปถึงการรักษาคนไข้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่
งานวิจัยในด้านนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องหาวิธีการอันเหมาะสมที่จะนำเอาลักษณะที่เป็นความพิเศษเฉพาะตัวของบทกวีมาพิสูจน์ ทั้งยังต้องแสดงผลที่พิสูจน์ได้นี้มาพัฒนาการศึกษาทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาแพทย์ที่จะก้าวออกไปสู่โลกแห่งการเยียวยารักษาสุขภาวะของคนในสังคม ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น...
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
********************
อ้างอิง :
Shapiro,Johanna and Mourra,Sarah “Doctor doggerel : Can poems make you a better doctor?” in British Medical Journal (November 10, 2010)
Shelton, Deborah L. “Poetry as Healer” in American Medical News (May 17, 1999)
Comments