“การไม่สามารถที่จะพูดคุยได้ก็หมายความว่าไม่สามารถที่จะแบ่งปันสิ่งที่คุณรู้สึกและนึกคิด คุณก็จะเหมือนกับตุ๊กตาตัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตแยกอยู่โดดเดี่ยวไปทั้งชีวิต โดยปราศจากความฝันและไร้ความหวัง”
นาโอกิ ฮิกาชิดะ จาก Th“การไม่สามารถที่จะพูดคุยได้ก็หมายความว่าไม่สามารถที่จะแบ่งปันสิ่งที่คุณรู้สึกและนึกคิด คุณก็จะเหมือนกับตุ๊กตาตัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตแยกอยู่โดดเดี่ยวไปทั้งชีวิต โดยปราศจากความฝันและไร้ความหวัง”
นาโอกิ ฮิกาชิดะ จาก The Reason I Jumpe Reason I Jump
นาโอกิ ฮิกาชิดะ เด็กชายออทิสติกวัย 13 ขวบ ผู้เขียน The Reason I Jump เชิญชวนคุณให้เข้าไปสู่โลกของเขา เขาอยากให้คุณเข้าใจว่าทำไมเขาชอบถามคำถามเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก “การถามคำถามซ้ำๆ อย่างนี้มันสนุกมาก เหมือนเล่นเกมโยนรับลูกบอล ไม่เหมือนกับคำที่เราถูกสั่งให้พูด เพราะการถามซ้ำในสิ่งที่เรารู้คำตอบอยู่แล้วให้ความเพลิดเพลิน เหมือนกำลังเล่นกับเสียงและจังหวะ”
เขาอยากให้คุณเห็นว่าทำไมบางครั้งเขาก็มีปัญหากับคำพูดที่ออกมา “เพราะคำที่จะออกจากปากที่ผมจะนำมาใช้ได้ในขณะนั้นมีเพียงไม่กี่คำ คำเหล่านี้มันพร้อมอยู่แล้วเพราะผมมักจะใช้อยู่ประจำ หรือไม่ก็เพราะเป็นคำที่ทิ้งความประทับใจไว้ให้ผม ณ จุดใดจุดหนึ่งในอดีตมายาวนาน”
และเขาก็อยากให้คุณรู้ถึงเหตุผลที่เขาชอบกระโดด “ตอนผมกระโดด มันให้ความรู้สึกผมราวกับจะได้ขึ้นไปถึงท้องฟ้า ที่จริงแล้วความปรารถนาที่จะถูกกลืนเข้าไปในท้องฟ้าก็มากพอแล้วที่จะทำให้หัวใจผมเต้นรัว เมื่อผมกระโดด ผมรู้สึกว่าแต่ละส่วนของร่างกายผมสมบูรณ์ดีด้วย ขาผมกระโจนขึ้นและมือของผมก็ตบกัน และนั่นก็ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขมาก-มากเลย”
1
นักเขียน เดวิด มิตเชลล์ ยังจำได้ดีถึงวันที่เขาอ่านบันทึกชีวิตของเด็กชายออทิสติกวัย 13 ขวบ เขาเปล่งร้องออกมาด้วยความปิติ “สวรรค์เผยทางให้เห็นแล้ว”—หนังสือเล่มนี้คือ “ช่องทาง” ให้เขาได้รู้จักชีวิตลูกชายออทิสติกของเขา
ผู้เขียนหนังสือขายดี Cloud Atlas (เมฆาสัญจร) บอกว่า นาโอกิ ฮิกาชิดะเป็น “หนึ่งในนักเขียนเรื่องออทิสติกที่รู้เรื่องของคนออทิสติกมากที่สุดคนหนึ่งในโลก”
“ก่อนอ่านเรื่องของนาโอกิ ผมละลายใจที่จะบอกว่าผมใช้การดูแลและรักษาลูกชายแบบหุ่นยนต์ที่ชำรุดแล้ว” มิตเชลล์บอกต่อผู้สื่อข่าวแจแปนไทม์ “หลังอ่านเรื่องของนาโอกิ ผมเริ่มเชื่อว่าลูกชายผมไม่ใช่สิ่งที่ชำรุดหรือพิการ แต่เป็นเพียงความสามารถที่จะสื่อสารถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในใจที่อุดมไปด้วยความสนุกสนานนั้นมัน “ติดขัด” อยู่เท่านั้น”
ตอนฮิกาชิดะอายุเพียง 5 ขวบ เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิซึมระดับรุนแรง ซึ่งเป็นอาการของความผิดปกติด้านพัฒนาการระบบประสาทที่ทำให้เกิดความยากลำบากทางการสื่อสาร
สาเหตุของออทิซึมยังไม่ทราบชัดแต่นักวิจัยชี้ว่าอาจจะเป็นยีน, สภาพแวดล้อม หรือทั้งสองอย่าง นอกจากนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนในวัยเด็กที่จะป้องกันได้
ก็เช่นเดียวกับตัวละครรางวัลออสการ์ ดัสติน ฮอฟแมน ในภาพยนตร์เรื่อง “Rain Man” ตอนนี้ (ค.ศ.2016) ฮิกาชิดะอายุ 24 ปี ก็ยังติดอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ โดยไม่มีสาเหตุ(เช่น ใช้มือคลำหู, ขยี้ผมอยู่เกือบตลอด เป็นต้น) และบางครั้งก็ท่องตัวเลขออกมา
เขามีปัญหาในการพูดและลนลานเมื่อมีผู้คนมากมายเกินไปมาห้อมล้อมอยู่รอบตัว แต่เขาก็สามารถสื่อสารได้ดีโดยแสดงความคิดเห็นของเขาผ่านการสะกดจากแผ่นตารางตัวอักษร (alphabet grid) ที่มีลักษณะเหมือนแป้นพิมพ์ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะดูงุ่มง่ามก็ตาม
“ผมไม่สามารถอธิบายความรู้สึกได้ดีเพราะผมเป็นออทิสติก แต่ผมสามารถสื่อสารโดยการทำแบบนี้ (ชี้ไปที่ตัวอักษรแต่ละตัวบนตาราง)” ฮิกาชิดะบอกกับผู้สัมภาษณ์ในสำนักงานของหนังสือพิมพ์แจแปนไทม์ ที่เมืองคิชะระซุ จังหวัดชิบะ “ถ้อยคำ (words) ไม่ได้เป็นเพียงวิถีทางการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนของผมด้วย”
มิตรภาพกับถ้อยคำนั้นผลิบานขึ้นเป็นงานเขียนในหนังสือ The Reason I Jump ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2007 ซึ่งพูดถึงคำถามที่ผู้คนมักจะถามเกี่ยวกับออทิสติกและคำตอบแบบตรงไปตรงมาของเขา บางครั้งก็น่าฉงนกับคำตอบที่เขาให้
“ผมมักลืมสิ่งที่เพิ่งได้ยินไปอย่างรวดเร็วมาก” เขาเขียนในการตอบคำถามว่าเหตุใดคนออทิสติกจึงมักถามคำถามซ้ำๆ “ความจำของคนปกติถูกจัดไว้อย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นเส้นบรรทัด แต่ความจำของผมดูเหมือนจะกระจายเป็นจุดๆ มากกว่า ผมจะต้อง ‘หยิบเอา’ จุดเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ โดยถามคำถามซ้ำ”
พูดถึงชื่อของหนังสือ ทำไมถึงชอบกระโดดนัก เขาเขียนว่า “ตอนผมกระโดด มันให้ความรู้สึกผมราวกับจะได้ขึ้นไปถึงท้องฟ้า...เมื่อได้กระโดดขึ้นๆ ลงๆ มันเหมือนกับผมกำลังคลายเชือกที่ผูกรัดตัวผมอยู่ให้หลุดออก”
“...เมื่อผมไม่ได้เคลื่อนไหว มันรู้สึกเหมือนจิตวิญญาณผมกำลังจะหลุดออกจากร่างกาย”
หนังสือได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อถูกพบและได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมิตเชลล์ ซึ่งเคยมาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและมีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าสู่ผู้อ่านกระแสหลักไปทั่วโลก
“เราอ่านเรื่องนี้ไปไม่กี่บทเราก็คิดแล้วว่า ‘พระเจ้า! ราวกับลูกชายเรากำลังพูดกับเราเลย’ หรือ ‘โอ..นั่นเหมือนกับสิ่งที่ลูกชายเราทำเลย’ ” มิตเชลล์ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไอร์แลนด์บอกกับผู้สัมภาษณ์ผ่านทางอีเมลล์ “เขาไมใช่กูรู ไม่ใช่นักบุญ แต่เขารู้เรื่องการใช้ชีวิตกับสมองวงจรออทิสติกได้อย่างดี”
ฉบับภาษาอังกฤษที่เดวิด มิตเชลล์และภรรยาย เคอิโกะ โยชิดะร่วมกันแปล พิมพ์ขึ้นในปี 2013 ไม่นานก็ขึ้นแท่นหนังสือขายดีของอเมซอนสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร หลังจากนั้นก็แปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 30 ภาษา (ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม 2013 และพุ่งขึ้นเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งประเภท non-fiction ในรายชื่อของซันเดย์ไทม์ทันที ส่วนในสหรัฐอเมริกาตีพิมพ์ในเดือนต่อมาของปีเดียวกัน หลังจากที่เดวิด มิตเชลล์ให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ The Daily Show วันรุ่งขึ้นก็กลายเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของอเมซอน และติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์คไทม์อยู่หลายสัปดาห์)
เขียนโดย : พิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Comentários