top of page
รูปภาพนักเขียนReader Center

The Reason I Jump : เสียงจากใจของเด็กชายออทิสติก (2)

อัปเดตเมื่อ 13 พ.ค. 2563





“เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ รู้สึกเหมือนเป็นครั้งแรกที่ลูกชายของเราพูดคุยกับเราว่าในหัวเขามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง” เดวิด มิตเชลล์ : บทนำ The Reason I Jump

ขณะที่กำลังสับสนว่าจะสื่อสารกับลูกอย่างไร เคอิโกะ โยชิดะ ภรรยาของมิตเชลล์ ได้พบกับบันทึกชีวิตเล่มนี้บนแผงหนังสือออนไลน์ ในหนังสือ นาโอกิ ฮิกาชิดะ ผู้เขียนซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นออทิสติกตอบคำถาม เช่น ทำไมเขาจึงไม่สบสายตาเวลาพูด ทำไมเขาจึงไม่สามารถทำท่าทางที่เหมาะสมเวลาสนทนา และเขาไม่ชอบที่มีคนมาพูดดูถูกเขามากแค่ไหน โยชิดะคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์เพราะเธอเองก็มีลูกชายออทิสติกด้วย

ตอนแรกเธอแปลโดยคิดว่าจะให้คนดูแลลูกและเพื่อนฝูงอ่านเท่านั้น แต่แล้วทั้งมิตเชลล์และโยชิดะก็เริ่มเห็นว่าบันทึกชีวิตเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นหากเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้าง

“ผมเห็นว่ามันจะให้ประโยชน์ในแง่การทำความเข้าใจคนออทิสติก” มิตเชลล์บอก “ภรรยาผมทำงานอย่างหนักในการแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนผมก็ทำหน้าที่ปรับแต่งหน้าเค้กให้ดูดี แต่เราก็ต้องเคารพความเป็นจริงที่ว่าเป็นงานเขียนของเด็กอายุเพียงแค่ 13 ปีในขณะนั้น ไม่ใช่นักเขียนนิยายอายุ 46 ปี (อย่างผม) ดังนั้นจึงไม่ใช่สำนวนประเภทที่ใช้เขียนในนิวยอร์คเกอร์”

The Reason I Jump เป็นงานเขียนประเภทบันทึกความทรงจำของเด็กชายออทิสติกวัย 13 ขวบ ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นกระบวนการคิด ความรู้สึก การรับรู้และการตอบสนอง หรือที่เรียกว่าเป็น “เสียงจากภายใน” ของผู้มีอาการออทิสติก หนังสือพูดถึงประเด็นต่างๆ เช่น ความงาม เวลา เสียง และความรู้สึกของเด็กชายเกี่ยวกับผู้คนรอบตัว นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้นรวมอยู่ด้วย

มิตเชลล์เปรียบเทียบหนังสือเล่มนี้กับ The Diving Bell and the Butterfly (ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ) ของฌอง-โดมินิค โบบี ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับโรคที่ไม่มีทางรักษา (Locked-in Syndrome) เป็นอัมพาตทั้งตัวและเขียนหนังสือโดยการกระพริบตาสื่อสารกับคนอื่นถ่ายทอดลงบนกระดาษ (ให้คนท่องชุดตัวอักษรที่เรียงตามความถี่ในการใช้ในภาษาฝรั่งเศส โดยเขาจะกระพริบตาเมื่อถึงตัวอักษรที่เขาต้องการ จากนั้นใช้ตัวอักษรเรียงร้อยเป็นคำ เป็นวลี ประโยค ข้อความ และต่อเนื่องจนเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง)

ฮิกาชิดะเขียนหนังสือเล่มนี้โดยใช้กระดานตารางตัวอักษร (alphabet grid) “เขาใช้นิ้วชี้ไปที่พยัญชนะแต่ละตัวและให้คนที่อยู่ข้างๆ รวบรวมให้เป็นคำ เป็นประโยค เป็นข้อความ เขาอายุ 13 แต่เป็นนักเขียนยิ่งกว่าผมเสียอีก” มิตเชลล์ นักเขียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน Best of Young British Novelists และมีหนังสือที่เคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัล Booker Prize บอก

พร้อมๆ ไปกับการร่วมแปลกับภรรยา มิตเชลล์ก็เขียนบทนำไว้ในหนังสือด้วย เขาเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ‘ดั่งสวรรค์เปิด’—เหมือนเปิดประตูให้รู้ถึงจิตใจลูก “ผู้ประพันธ์ยังอยู่ในช่วงวัยเด็กและเป็นออทิสติก ไม่ต่างไปจากชีวิตลูกชายของเรา...เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ รู้สึกเหมือนเป็นครั้งแรกที่ลูกชายของเราพูดคุยกับเราว่าในหัวเขามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับคนออทิสติก ที่ฮิกาชิดะและคนออทิสติกทั่วไปมักจะถูกถาม ฮิกาชิดะตอบข้อสงสัยเหล่านี้ผ่านคำถาม 58 คำถาม เช่น ทำไมไม่สบสายตาผู้คน ทำไมถึงพูดเสียงดังและทำท่าแปลกๆ ทำไมถึงชอบเอารถและของเล่นมาเรียงเป็นแถว ฯลฯ โดยตอบสลับกับการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต และปิดท้ายด้วยเรื่องสั้น “I’m Right Here’ ซึ่งเขาเกริ่นนำว่า

“ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยหวังว่ามันจะทำให้คุณเข้าใจว่าเจ็บปวดเพียงใดเมื่อคุณไม่สามารถพูดแสดงออกต่อคนที่คุณรัก ถ้าเรื่องนี้เชื่อมถึงหัวใจคุณได้ทางใดทางหนึ่ง ผมก็เชื่อว่าคุณก็จะสามารถเชื่อมกลับมาถึงหัวใจของคนออทิสติกได้เช่นกัน”


เขียนโดย : พิรุณ อนวัชศิริวงศ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน

ดู 58 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page