top of page
รูปภาพนักเขียนReader Center

การ์ตูนเบิกทางสู่นักอ่านคุณภาพ

อัปเดตเมื่อ 26 พ.ค. 2563





การ์ตูนเบิกทางสู่นักอ่านคุณภาพ

ผลจากการให้อ่านหนังสือที่มีคุณค่าในรูปของนิยายภาพ คุณครูบอกว่า “หนังสือเหล่านี้สามารถดึงเด็กๆ ให้อ่านได้อย่างติดหนึบ แม้กระทั่งเด็กที่ยังอ่านไม่ค่อยคล่องก็ตาม... พวกเขาจะอ่านอย่างไม่บันยะบันยัง”

จากเว็บไซต์ http://trevorcairney.blogspot.com (Literacy, families and learning blog : June15, 2008) มีบทความที่น่าสนใจเรื่อง หนังสือการ์ตูนยังเกี่ยวข้องกับเราอยู่หรือเปล่า?” โดย Trevor Cairney มีสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือการ์ตูน เขาเขียนไว้ว่า

“เมื่อยามเด็ก ผมโตมาพร้อมกับการอ่านการ์ตูนเป็นประจำ หนังสือพิมพ์มีการ์ตูนช่องเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจให้อ่านในแต่ละวัน และเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็จะใช้การ์ตูนเป็นการอ่านเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ การ์ตูนอย่างเช่น ซูเปอร์แมน, ทาร์ซาน, ริชชี่ริช, เดอะ แฟนธอม และการ์ตูนคลาสสิกของดิสนี่ย์อย่าง โดนัลด์ดั๊ก และ มิกกี้เม้าส์ เป็นสิ่งที่นิยมกันทั่วไป แต่โดยทั่วไปแล้วครูหรือบรรณารักษ์ห้องสมุดมักมองว่าการ์ตูนพวกนี้เป็น “ศิลปะชั้นรอง” และไม่ให้การยอมรับ เมื่อโทรทัศน์เข้ามามีบทบาทในช่วงทศวรรษ 1950 ในออสเตรเลียและในยุคต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในสหราชอาณาจักร หนังสือการ์ตูนก็ถูกลดความนิยมลงไป”

ในยุคต้นๆ เมื่อครั้งการ์ตูนได้รับความนิยม อัลบั้มการ์ตูนเล่มใหญ่เป็นที่นิยมกันทั่วไปในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในเบลเยียมและฝรั่งเศส เรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือชุด ติน ติน ที่พิมพ์ครั้งแรกในปี 1929 และยังคงอ่านกันมาจนถึงปัจจุบัน อีกรูปแบบหนึ่งคือนิยายภาพ ซึ่งมีทั้งแบบนิยายที่พิมพ์เป็นตอนๆ พร้อมกับภาพประกอบ หรือเวอร์ชั่นที่ประยุกต์วรรณกรรมให้ง่ายขึ้นพร้อมภาพในรูปแบบของการ์ตูน

ทุกวันนี้ หนังสือการ์ตูนยังคงเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เป็นนักสะสมการ์ตูน ทว่าในแทบทุกสังคมและวัฒนธรรมก็ยังคงจัดว่าการอ่านการ์ตูนเป็นไปเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ยกเว้นในญี่ปุ่นซึ่งมังงะหรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นที่นิยมกันมากมายทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ไม่แตกต่างกัน

หนังสือการ์ตูนโดยปกติจะมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือศิลปะและวรรณกรรม จุดประสงค์หลักของสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่าหนังสือการ์ตูนมักจะเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงใจ แต่การ์ตูนทุกวันนี้ก็มีแบบที่จริงจังมากขึ้น เช่นเรื่อง ยามสายลมพัด (When the Wind Blows : 1986) ของเรย์มอนด์ บริกกส์ ที่เล่าถึงผลกระทบจากการระเบิดของระเบิดปรมาณู ที่มีต่อคู่สามีภรรยาชราชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งเข้าใกล้กับความหายนะที่รออยู่ ราวกับว่าจะสามารถรักษาชีวิตให้อยู่รอดจากการจู่โจมของสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างง่ายๆ กระนั้น

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าหนังสือการ์ตูนได้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในรูปแบบ comic book หรือนิยายภาพ โดยมีเนื้อหาสาระและรูปแบบที่มีขอบเขตตั้งแต่วิทยาศาสตร์ไปจนถึงประวัติบุคคล ตั้งแต่บันทึกชีวิตของคนสามัญไปจนถึงซูเปอร์ฮีโร่... ทุกๆ เรื่องพร้อมที่จะทำในรูปแบบการ์ตูนได้ทั้งสิ้น

หลายสำนักพิมพ์จัดพิมพ์นิยายภาพจากวรรณคดีของเชกสเปียร์ รวมทั้งหนังสือคลาสสิกอื่นๆ เช่น เหรียญแดงแห่งความกล้าหาญ, มหากาพย์บีโอวัลท์, เทพนิยายกรีก, การผจญภัยของโรบินฮูด หรือแม้แต่นิทานของแคนเทอเบอรี

ผลจากการให้อ่านหนังสือที่มีคุณค่าในรูปของนิยายภาพ ในระดับประถมตอนปลายหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา คุณครูบอกว่า “หนังสือเหล่านี้สามารถดึงเด็กๆ ให้อ่านได้อย่างติดหนึบ แม้กระทั่งเด็กที่ยังอ่านไม่ค่อยคล่องก็ตาม... พวกเขาจะอ่านอย่างไม่บันยะบันยัง”

สำนักพิมพ์ไดมอนบุ๊ค ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่ายอดขายของนิยายภาพเพิ่มขึ้นจาก 43 ล้านดอลลาร์ในปี 2001 เป็น 330 ล้านดอลลาร์ในปี 2006 โดยที่ผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยคือโรงเรียนและห้องสมุดเพื่อนำไปใช้เปิดทางสู่การส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กๆ ในขณะที่มีสถิติบางแห่งบอกว่าการอ่านหนังสือของเยาวชนลดลงเนื่องมาจากคอมพิวเตอร์ เกม เคเบิลทีวี ฯลฯ แต่บรรดาคุณครูส่วนหนึ่ง พบว่าพวกเขาสามารถดึงความสนใจของนักเรียนให้เพิ่มขึ้นได้ด้วยหนังสือที่มีรูปภาพ

นี่เป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม? ใช่ นี่คือคำตอบของผู้พยายามหากลวิธีส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็ก แต่มิได้หมายความว่า เด็กๆ จะเติบโตขึ้นด้วยการอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพเท่านั้น เราใช้หนังสือการ์ตูนเพื่อไปให้ถึงจุดประสงค์ที่แท้จริง นั่นคือเพื่อกระตุ้นและส่งเสริม นำให้เด็กๆ ไปสู่การอ่านที่หลากหลายทั้งด้านเนื้อหาและหลากหลายในด้านรูปแบบ เพื่อการเป็นนักอ่านที่มีคุณภาพของสังคม

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน

ดู 27 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page