top of page
รูปภาพนักเขียนReader Center

ความเข้าใจในมนุษย์เพิ่มพูนได้จากการอ่าน “เรื่องแต่ง”



การได้เสพหนังสือดี ๆ สักเล่ม สามารถนำพาให้เราเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทเรื่องแต่ง ซึ่งมีพลังที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจผู้อื่นได้ ที่ได้มาจากตัวละครในเรื่อง เขาคิดอะไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น ด้วยเหตุผลกลใด ด้วยสถานการณ์อย่างไร ฯลฯ ก่อให้เกิดเป็นความจำได้หมายรู้ของนักอ่าน ทำให้สามารถอ่านอารมณ์ของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีขึ้น

นักวิจัยทางประสาทวิทยาหรือวิทยาการด้านสมอง ใช้เวลาอยู่หลายปีเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการอ่านหนังสือต่อสมอง พวกเขาได้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างการอ่านนวนิยายกับความสามารถในกระบวนการคิด (cognitive ability) ที่เพิ่มพูนขึ้น โดยชี้ให้เห็นว่า การอ่านมีผลอย่างมากต่อความคล่องตัวในการคิด ความจำ และทักษะในการจินตนาการและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น นอกจากนี้ การอ่านก็ยังสามารถบรรเทาความเครียดและช่วยในเรื่องการนอนได้ด้วย

แน่นอนว่าผลที่ได้จากการอ่านอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังอ่านจากเครื่องอ่านอิเล็คทรอนิกส์ หรือว่าอ่านจากหนังสือที่เป็นเล่ม (กระดาษ) การศึกษาวิจัยที่ทะยอยผลออกมามีแนวโน้มชัดที่จะ “ฟันธง” ว่าหนังสือเล่มมีประสิทธิภาพสูงกว่าทั้งต่อสุขภาพกายและคุณภาพสมอง

อะไรเกิดขึ้นในตัวของเราบ้างจากการได้อ่านหนังสือดี ๆ โชคดีที่วิทยาการทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าจนสามารถอธิบายสิ่งที่เป็นความสัมพันธ์ของคนกับวรรณกรรม ที่ยุคก่อนไม่มีการรองรับด้วยประจักษ์หลักฐานแบบวิทยาศาสตร์ นอกจากคิดว่าเป็นเรื่องที่นักมนุษยศาสตร์ก็ว่ากันไปเอง แต่ตอนนี้วิทยาศาสตร์ทึ่งในคุณานุประโยชน์ของพลังของวรรณกรรม

มีบทความวิจัยเรื่อง “การอ่านบันเทิงคดี พัฒนาระบบความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ (Reading Literacy Fiction Improves Theory of Mind)” ในวารสาร Science (18 October 2013. Vol.342 no.6156 pp.377-380.) บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า การได้เสพหนังสือดี ๆ สักเล่ม สามารถนำพาให้เราเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทเรื่องแต่ง (literacy fiction) ซึ่งมีพลังที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจผู้อื่นได้ (more empathetic) ที่ได้มาจากตัวละครในเรื่อง เขาคิดอะไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น ด้วยเหตุผลกลใด ด้วยสถานการณ์อย่างไร ฯลฯ ก่อให้เกิดเป็นความจำได้หมายรู้ของนักอ่าน ทำให้สามารถอ่านอารมณ์ของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีขึ้น

จากรายงานการวิจัยดังกล่าว ผลที่ได้นี้มีต่อผู้ที่อ่านประเภทเรื่องบันเทิงคดีมากกว่าผู้ที่อ่านประเภทสารัตถคดี (non- fiction) และมีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ “การเข้าใจสภาวะจิตใจของผู้อื่นเป็นทักษะที่สำคัญยิ่ง ซึ่งสามารถปรับใช้เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ในสังคมที่ซับซ้อนที่ผู้คนแต่ละคนมีลักษณะนิสัยความแตกต่างกัน” นักวิจัยผู้พบมหัศจรรย์แห่งการอ่าน “เรื่องแต่ง” คือ เดวิด คิดด์ และ อีมานูเอล คาสตาโน แห่งสถาบันการวิจัยทางสังคมแนวใหม่ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้สรุปข้อค้นพบด้วยหวังว่าผู้คนจะมีความเข้าใจถึงพลังของหนังสือ “คุณภาพ” ว่า สามารถสร้าง “คุณภาพของระบบความคิด” ของผู้อ่าน แล้วก็สานต่อในการส่งเสริมการอ่านได้อย่างเชื่อมั่น และมุ่งมั่นก้าวต่อไปในกระแสเชี่ยวกรากของสิ่งเร้าที่ขัดขวางวิถีทางแห่งการอ่านที่สร้างสรรค์นี้



การอ่านสร้างความเข้าใจ-เห็นอกเห็นใจผู้คนในสังคม

การเพิ่มพูนความเห็นอกเห็นใจ เกิดขึ้นได้ด้วยหนังสือบันเทิงคดีที่ “โดนใจ” ผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ และสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีงานวิจัยหลายชิ้น รวมทั้งที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร จิตวิทยาสังคมประยุกต์ (Journal of Applied Social Psychology) เมื่อปี ค.ศ.2014 ยืนยันว่าเยาวชนที่อ่าน แฮรี่ พอตเตอร์ มีการรับรู้ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มที่ถูกตีตราจากสังคม อย่างเช่น ผู้อพยพ โฮโมเซ็กชวล หรือผู้ลี้ภัย

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนชิ้นนี้รายงานผลว่า ความเห็นอกเห็นใจในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาลดลงร้อยละ 48 คนรุ่นใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะทิ้งการอ่านและหันไปขลุกอยู่กับเทคโนโลยีแทน หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวว่า

“ในเกมคอมพิวเตอร์ คุณอาจจะต้องช่วยชีวิตของเจ้าหญิง แต่คุณไม่ได้สนใจเกี่ยวกับตัวเธอเลย คุณแค่ต้องการจะเอาชนะเท่านั้น” บารอเนส กรีนฟิลด์ นักวิจัยอธิบายปัญหาของเกมคอมพิวเตอร์ และเสริมคุณค่าเชิงลึกของหนังสือว่า “แต่เจ้าหญิงในหนังสือมีอดีต ปัจจุบันและอนาคต เธอมีการเชื่อมโยงและดึงดูดใจผู้อ่าน เราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับเธอ เราเห็นโลกโดยผ่านสายตาของเธอ”


บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และ พิรุณ อนวัชศิริวงศ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน





ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page