ร้อยละ 80 ของเด็กที่มีหนังสืออยู่ในบ้าน จะมีการอ่านหนังสือเพื่อความรื่นรมย์ไปตลอดในช่วงประถม-มัธยมศึกษา ผู้รู้แนะนำให้ อ่านหนังสือ 15 นาทีต่อวัน ผลของการอ่านนี้ จะช่วยให้เด็กรู้จักคำมากกว่า 1 ล้านคำต่อปี
“ยิ่งอ่านมาก ก็ยิ่งรู้มาก ยิ่งเรียนรู้มากขึ้น ก็ยิ่งมีที่ทางให้ไปได้มากขึ้น” นี่คือข้อความที่ดอกเตอร์ซูส (นามปากกาของ Theodor Seuss Geisel : ค.ศ.1904-1911 นักเขียน นักสร้างสรรค์หนังสือเด็กชาวอเมริกัน) เคยเขียนเอาไว้ การเปิดอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่มช่วยเปิดโลกของความรอบรู้ ซึ่งเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเยาว์
หนังสือสำหรับเด็กช่วยขยาย ‘คลังถ้อยคำ’ ให้แก่เด็ก มากกว่ารายการโทรทัศน์ช่วงไพร์ม์ไทม์ถึงร้อยละ 50 และมากกว่าการสนทนากันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน นี่คือผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (ข้อสรุปงานวิจัยนี้ปรากฎในบทความเรื่อง การอ่านทำให้เราฉลาดขึ้น (Reading Can Make You Smarter) ในวารสารทางวิชาการ Principal. (Nov/Dec 2003, pp.34-39. โดย Anne Cunningham และ Keith Stanovich)
การเปิดโลกคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้กับเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่นำไปสู่คะแนนที่สูงขึ้นจากการทดสอบด้านการอ่านเท่านั้น แต่คะแนนในการทดสอบด้านสติปัญญาก็สูงขึ้นด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ เด็กที่พูดจาฉะฉานด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ได้มากเป็นเด็กฉลาดนั่นเอง มีการวิจัยยืนยันการทดสอบนี้โดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินบะระ และคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ ยังพบว่าความสามารถในการใช้ถ้อยคำที่ “แข็งแรง” กว่า ยังส่งผลต่อการมีสติปัญญาที่สูงกว่า ซึ่งสามารถส่งทอดให้บุคคลนั้นมีสติปัญญาสูงในช่วงวัยต่อมาของชีวิตด้วย
ประเด็นพัฒนาคำศัพท์ ผู้รู้แนะนำให้ อ่านหนังสือ 15 นาทีต่อวัน ผลของการอ่านนี้ จะช่วยให้เด็กรู้จักคำมากกว่า 1 ล้านคำต่อปี
การสร้างบรรยากาศการอ่านจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย ดังที่ได้ผลการสำรวจแล้วพบว่า ร้อยละ 80 ของเด็กที่มีหนังสืออยู่ในบ้าน จะมีการอ่านหนังสือเพื่อความรื่นรมย์ไปตลอดในช่วงประถม-มัธยมศึกษากันเลยทีเดียว
บ้านใดที่ใช้การเปิดโทรทัศน์เลี้ยงลูก บอกได้เลยว่าบ้านนั้นกำลังทำให้สมองของเด็กพัฒนาช้าและทำให้ประสาทสัมผัสรับรู้ต่าง ๆ เฉื่อยเนือย
รูปแบบของสมองถูกกำหนดโดยการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว การพูด ความคิดและจินตนาการ ในขณะที่สมองมีการพัฒนา เด็กเล็กก็จะเปลี่ยนจากสำนึกที่สัมพันธ์กับสมองซีกขวา คือมีลักษณะไร้ถ้อยคำ มาสู่สำนึกที่สัมพันธ์กับสมองซีกซ้ายซึ่งมีลักษณะตรรกะ เป็นถ้อยเป็นคำ หนังสือสำหรับเด็กเล็กช่วยพัฒนาการที่สอดคล้องกับร่องทางพัฒนาการดังกล่าวนี้ แต่หากปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ การดูโทรทัศน์จะยืดเวลาที่เด็กต้องขึ้นกับสมองซีกขวาให้นานขึ้น และทีวียังส่งผลให้เด็กได้รับความเครียด จากการที่สมองเด็กต้องสร้างสิ่งที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ซึ่งประกอบด้วยรังสีที่มีความเร็วสูง ทำให้เส้นและจุดจำนวนมากแปรเป็นภาพ ในขณะที่ดวงตาของเด็กผู้ดูไม่ได้เคลื่อนไหว ความเครียดนี้จะทำให้นอนไม่หลับ วิตกกังวล ฝันร้าย ปวดหัว ขาดสมาธิ และประสาทสัมผัสต่าง ๆ ไม่ว่องไว
และสำหรับผู้ใหญ่เอง หากใครเข้าใจว่าการอ่านด้วยเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์จะทำให้อ่านได้เร็วขึ้นละก็ เป็นความเข้าใจที่ผิด งานวิจัยได้ผลออกมาแล้วว่า การอ่านจากหน้าจอทำให้เราอ่านได้ช้าลงถึงร้อยละ 20-30 จากการอ่านหน้ากระดาษ
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และ พิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน
Comments