การอ่านบันเทิงคดีช่วยเพิ่มความสามารถของผู้อ่านในการมองผ่านทัศนะของผู้อื่น ที่เรียกว่า “put themselves in another person’s shoes” และช่วยขยายจินตนาการออกไป และในที่สุดก็ช่วยเพิ่มความสามารถในการอ่านความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น
ในรายงานผลการวิจัย “การอ่านทำอะไรกับระบบความคิด”("What Reading Does For The Mind" ค.ศ.2001) ของ ดร.แอน คันนิ่งแฮม นักจิตวิทยาพัฒนาการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มองไปที่ผลด้านการรู้คิดหรือพุทธิปัญญา (cognitive) ของการเป็นนักอ่านตัวยง
สาระสำคัญของงานวิจัยนี้กล่าวว่า การอ่านเป็นเรียนรู้กระบวนการ "ถอดรหัส" (coding) และเมื่อคนเราพัฒนาถึงความสามารถในการอ่านในระดับหนึ่ง ประโยชน์ของมันก็จะกลายเป็นผลที่เอื้อให้อ่านได้มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือการอ่านจะช่วยให้สมองเราเก็บข้อมูลไว้เพิ่มขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งในที่สุดก็หมายความว่าเราจะอ่านได้ดีขึ้น ซึ่งก็จะไปเติมเต็มวงจรที่จะทำให้คนเราฉลาดปราดเปรื่องขึ้น
นักวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการ อธิบายว่า "การอ่านเป็นกระบวนการของสมองที่มีความซับซ้อนอย่างมาก และก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ โดยการเชื่อมโยงของระบบในสมองซึ่งส่งผลต่อหน่วยความจำ” ดังนั้น ทุกครั้งที่เราอ่าน เราก็สร้างความจำขึ้นมาใหม่ กระบวนการของการอ่านจะยืดการตอบสนองต่อความจำของเราทุกครั้ง
เสริมด้วยนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ คือ ดร.เคน พักห์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านภาษาศาสตร์ มหาวิทยาเยล ก็ได้นำเสนอองค์ความรู้จากการวิจัยว่า “ส่วนของสมองที่พัฒนาสำหรับหน้าที่ต่าง ๆ ได้แก่ การมองเห็น ภาษา และส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ จะเชื่อมต่อวงจรเซลล์ประสาทเพื่อการอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายความรู้ของเรามาก”
และคุณสมบัติของหนังสือที่คนเราได้รับเป็นพิเศษก็คือ
“โดยปกติ เมื่อเราอ่านหนังสือเรามีเวลาในการขบคิด ในการอ่านนั้นเราจะมีการหยุดชั่วขณะซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสื่อหนังสือ เพื่อทำความเข้าใจและความกระจ่าง (จากสิ่งที่เรากำลังอ่านอยู่)”
การอ่านนวนิยายสร้างอีกมิติของระบบความจำ
งานวิจัยในปี 2013 ของมหาวิทยาลัยเอมโมรี ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การอ่านนวนิยายสามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสมอง และยังคงมี “การทำงาน” อยู่อย่างน้อย 5 วันหลังจากที่อ่านจบไปแล้ว
การอ่านหนังสือดี ๆ ช่วยกระตุ้นการเชื่อมต่อในสมองให้เพิ่มมากขึ้น และยังคงอยู่ในระบบประสาทในลักษณะเดียวกับความจำของกล้ามเนื้อ (muscle memory) ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออย่างอัตโนมัติ เนื่องจากทำกิจกรรมนั้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ หรือฝึกจนกล้ามเนื้อจำได้
อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า การอ่านนวนิยายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมนของสมอง และโครงสร้างเนื้อเยื่อของสมอง แม้ว่าเราจะอ่านจบไปแล้วแต่สมองยังคงหลั่งสารในการทำงานของสมอง และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางชีววิทยาและเคมีในสมองไปอีก 5 วัน นั่นก็คือการอ่านนิยายช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อในสมอง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับหน่วยความจำให้มีสมรรถนะยิ่งขึ้นนั่นเอง
การอ่านบันเทิงคดีสามารถปรับแต่งระบบสมอง
การวิจัยที่ให้ความสนใจกับทฤษฎีของจิตใจ (theory of mind) เรื่องหนึ่ง ที่สร้างความตื่นตัวในวงการประสาทวิทยาและแวดวงการศึกษา ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Brain Connectivity เมื่อปี 2014 พบว่า การอ่านบันเทิงคดีช่วยเพิ่มความสามารถของผู้อ่านในการมองผ่านทัศนะของผู้อื่น ที่เรียกว่า “put themselves in another person’s shoes” และช่วยขยายจินตนาการออกไป และในที่สุดก็ช่วยเพิ่มความสามารถในการอ่านความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น
ในมิติของวิทยาศาสตร์ทางสมอง จากการศึกษาในเรื่องนี้ อธิบายได้ว่า การอ่านนวนิยายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนซ้ายของสมองกลีบขมับ (left temporal cortex) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจภาษา และบริเวณเขตรับความรู้สึกปฐมภูมิของสมอง (primary sensorimotor) เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การรู้คิดโดยร่างกาย” (embodied cognition) ระบบการทำงานนี้จะยอมให้เซลล์ประสาทลวงสมองหรือจิตใจ (mind) ในการคิดว่ากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ โดยที่ไม่ได้ทำ
ตัวอย่างของการรู้คิดโดยร่างกาย หรือปัญญาจากฐานกาย ก็เหมือนกับการสร้างมโนภาพในการเล่นกีฬา เพียงแค่ลองนึกว่าเรากำลังเล่นบาสเกตบอลอยู่ ก็สามารถไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของร่างกายในการเล่นบาสเกตบอลได้
นักวิจัยสรุปจากสิ่งนี้ว่า "การอ่านทำให้ผู้อ่านเข้าไปอยู่ในตัวละคร" และสิ่งนี้แหละที่สามารถไปเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ และความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
ศาสตราจารย์ กรีกอรี เบิร์นส์ นักประสาทวิทยาและเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย ได้ย้ำถึงองค์ความรู้ที่ได้ในการศึกษาเรื่องนี้ว่า “อย่างน้อยที่สุด เราก็สามารถพูดได้ว่า การอ่านเรื่องราวในบันเทิงคดี—โดยเฉพาะเรื่องที่บรรยายได้อย่างเข้มข้น—จะทำให้เครือข่ายในสมองพร้อมที่จะทำงาน (รู้สึกเข้าถึงชีวิตจิตใจ) อย่างที่ตัวละครประสบอยู่ เป็นเวลาอย่างน้อยก็สองสามวัน นี่แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่เรื่องเล่าสามารถมาอยู่ในตัวเรา อันเป็นผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อผู้อ่าน นี่คือบทบาทของการอ่านในการสร้างสมองของของนักอ่าน”
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และ พิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน
Comments