top of page
รูปภาพนักเขียนReader Center

ทำไมต้องอ่าน? อ่านออกเสียงให้เด็กฟัง สร้างพลังทวีคูณ



การอ่านทำให้เกิดปรากฏการณ์ “rich-get-richer” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การอ่านไม่เพียงแต่ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้โดยทันทีเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่ม “ความสามารถของกระบวนการคิด” ได้รวดเร็วแบบทวีคูณด้วย วัยที่เริ่มต้นเข้าสู่การอ่านมีความสำคัญในการทำนายว่าจะมีการอ่านไปตลอดชีวิต เด็กที่เริ่มต้นเข้าสู่การอ่านในวัยที่เร็วกว่า มีแนวโน้มที่จะอ่านมากกว่าและยิ่งอ่านเพิ่มมากขึ้นไปอีกเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ทารกเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองเป็นแสนล้านเซลล์ และเซลล์สมองแต่ละตัวมีแขนงมากมายเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วง 0-3 ขวบปีแรกจะพัฒนาไปประมาณ 80-90% ของผู้ใหญ่ หรือกล่าวได้ว่าสามารถเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆ เท่าเลยทีเดียว นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักประสาทวิทยา พบแล้วว่าสิ่งที่มีสามารถทำหน้าที่เป็น “สื่อ”ในการพัฒนาสมองของเด็กในวัยนี้ได้อย่างมหัศจรรย์ คือ หนังสือภาพ (picture book) สำหรับเด็ก

ในวัยที่เด็กยังอ่าน “ตัวหนังสือ” ไม่ได้นี่แหละ เขาอ่านโดยการดูภาพและฟังเสียงคุณแม่คุณพ่ออุ้มเขาไว้ในวงแขน อ่านให้ฟัง

ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุบาลศึกษาก็สนับสนุนว่า สื่อการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับเด็กวัย 4-6 ขวบ คือหนังสือที่ได้รับการออกแบบ “สาร” เป็นอย่างดี ด้วยภาพเป็นหลัก กอปรด้วยถ้อยคำที่สอดร้อยไปด้วยกัน บางเล่มก็เป็น “บิ๊กบุ๊ค” ที่คุณครูอนุบาลเปิดอ่านด้วยเสียงที่ดังฟังชัด มีลีลาไปตามอารมณ์ในเรื่อง เด็กตัวน้อยที่นั่งสลอนอยู่ข้างหน้าจะสนใจดูสนใจฟังอย่างจดจ่อทีเดียว

ทุก ๆ 1 หน่วยที่ลงทุนในโครงการส่งเสริมการอ่านของเด็กปฐมวัย จะให้ผลประโยชน์คืนกลับหรือผลตอบแทนสังคม 7.16 เท่า (แหล่งระบุว่า 7-12 เท่า) ผลตอบแทนนั้นได้แก่ พัฒนาการในทุกด้านของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือด้านสติปัญญา คุณภาพทางอารมณ์ ความสามารถในการสื่อสาร การคิดเชิงเหตุผล ผลการเรียน การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่าพ่อแม่-ลูก ((Parental bonds) ฯลฯ





ร้อยละ 75 ของพ่อแม่ ปรารถนาจะให้ลูกรักการอ่าน อ่านเพื่อความรอบรู้และรื่นรมย์ คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการส่งเสริมลูกให้เป็นหนอนหนังสือ สามารถเริ่มได้จาก การอ่านออกเสียง ให้ลูกฟังที่บ้าน ขณะพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะหยุดการอ่านให้ลูกฟังหลังจากลูกเรียนรู้ที่จะอ่านเองได้ รายงานการวิจัยเชิงสำรวจของสำนักพิมพ์ Scholastic (2014) แนะนำว่า การอ่านออกเสียงให้เด็กฟังตลอดช่วงที่ลูกเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กกลายเป็น นักอ่านประจำ ซึ่งหมายถึงเด็กที่อ่านหนังสือ 5-7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหมายถึงการอ่านหนังสือนอกห้องเรียนต่าง ๆ นานา (ไม่ใช่เพียงคร่ำเคร่งแต่กับหนังสือเรียนเท่านั้น)

สถิติจากการศึกษายืนยันได้จากการพบว่า มากกว่าร้อยละ 40 ของนักอ่านร่นเยาว์ (อายุ 6-10 ปี) เกิดจากบ้านที่มีการอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง แม้ว่ามีเด็กร้อยละ 13 ของบ้านที่มีการอ่านให้ลูกฟัง เป็นเด็กที่ไม่ค่อยชอบอ่านจนเรียกได้ว่าเป็นงานอดิเรกของเขา

ช่วงเวลาในการอ่านให้ฟังตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ จึงนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จุดประกายให้สนใจการอ่านจนกลายเป็นอุปนิสัย เป็นงานอดิเรกที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ เจริญปัญญา

การวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในประเด็นของการแพร่ขยายของการอ่าน และคนอ่านก็จะยิ่งอ่านมีมากว่าทศวรรษแล้ว ตั้งแต่ปี 2001 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่า ผลการวิจัยพบว่า การอ่านทำให้เกิดปรากฏการณ์ “rich-get-richer” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การอ่านไม่เพียงแต่ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้โดยทันทีเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่ม “ความสามารถของกระบวนการคิด (cognitive capabilities)” ได้รวดเร็วแบบทวีคูณด้วย

งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า วัยที่เริ่มต้นเข้าสู่การอ่านมีความสำคัญในการทำนายว่าจะมีการอ่านไปตลอดชีวิต เด็กที่เริ่มต้นเข้าสู่การอ่านในวัยที่เร็วกว่า มีแนวโน้มที่จะอ่านมากกว่าและยิ่งอ่านเพิ่มมากขึ้นไปอีกเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่


บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และ พิรุณ อนวัชศิริวงศ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน

ดู 15 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page