การ์ตูนในฐานะวรรณกรรมรูปแบบหนึ่ง
ในเว็บไซต์ The Graphic Classroom คริสต์ วิลสัน ผู้บุกเบิกได้แสดงทัศนะต่อประเด็นหนังสือการ์ตูนในฐานะวรรณกรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักการศึกษาที่มุ่งจะส่งเสริมการอ่านให้เด็กและเยาวชน
เขาเชื่อในพลังของวรรณกรรมว่าเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคน นิสัยรักการอ่านได้มาจากวรรณกรรม และการ์ตูนก็เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรม
วรรณกรรมภาพหรือ Graphic Novel มีคุณลักษณะในการหลอมรวมตัวหนังสือและศิลปะ (รูปเขียน) ทำให้มีการใช้พหุปัญญา (Multiple Intelligences) นักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่าน นักเรียนที่ไม่ชอบอ่าน ไปจนถึงนักเรียนที่เรียนด้านภาษาโดยตรง ล้วนได้ประโยชน์จากวรรณกรรมภาพหรือหนังสือการ์ตูน เพราะการผสมผสานของตัวอักษรและภาพทำให้นักเรียนเข้าใจความหมายได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิผลมากขึ้น มันมีรายละเอียดในภาพวาดซึ่งจะทำให้ผู้อ่านค่อยๆ เข้าใจความหมาย และช่วยให้เด็กค่อยๆ ซึมซับความหมายโดยไม่จำเป็นต้องถอดถ้อยคำทุกๆ คำ
ความหมายส่วนใหญ่ในการ์ตูนจะถูกแปลงและตีความโดยผ่านการแสดงออกทางภาพ นักเรียนที่ไม่สามารถนึกภาพจากถ้อยคำได้ ก็สามารถเห็นเป็นภาพได้ เห็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน มันจึงช่วยเปิดโลกใหม่สำหรับนักเรียนเหล่านี้
สำหรับนักเรียนที่มีปัญหากลัวการอ่านถ้อยคำจำนวนมากๆ บนหน้ากระดาษ เป้าหมายในการอ่านจบทั้งเรื่องของเขาก็สามารถจะบรรลุได้ โดยไม่ต้องตีความถ้อยคำทั้งหมดทุกตัวอักษร การอ่านไม่จำเป็นต้องตีความทุกถ้อยคำ การอ่านทุกตัวอักษรก็ใช่ว่าจะเข้าใจได้ทั้งหมด นักอ่านต่างก็ตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเด็กประถมหรืออุดมศึกษา
ในทางตรงกันข้าม หนังสือการ์ตูนทำให้ผู้อ่านได้รับความหมายจากภาพ การ์ตูนช่วยบรรเทาความเชื่องช้าในการอ่านให้ผ่านไปได้ เด็กๆ จะใช้เวลาและสำรวจว่าหน้ากระดาษสี่เหลี่ยมนั้นใส่อะไรรวมกันเข้าไปและตีความว่าอย่างไร โดยอิงจากการออกแบบรูปวาด ว่าฉากนั้นเป็นเหตุการณ์ที่นึกย้อนอดีต ความฝัน หรือมันเป็นเรื่องราวในปัจจุบัน ถ้าใครใช้เวลาในการอ่านอย่างรวดเร็วเกินไป คุณครูก็จะบอกให้อ่านอย่างช้าๆ และสนุกกับเรื่องนั้น นี่เป็นงานง่ายๆ สำหรับการส่งเสริมการอ่านด้วยวรรณกรรมการ์ตูน นักเรียนที่มีปัญหาเรื่องบุลลิกลักษณะต่างๆ ก็อาจพินิจพิเคราะห์กิริยามารยาททางสังคมได้โดยผ่านสื่อภาพ และรับความเข้าใจจากภาพที่เห็น
นี่เป็นข้อยืนยันของผู้รู้ที่ได้ทดลองใช้หนังสือการ์ตูนเพื่อส่งเสริมการอ่าน และยังอธิบายให้กระจ่างเพิ่มขึ้นด้วยว่า โดยทั่วไปวรรณกรรมมีหลายระดับการอ่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือการ์ตูนทั้งหมดจะเป็นการอ่าน “ระดับล่าง” หนังสือการ์ตูนก็มีหลายระดับหลายประเภท มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ผู้อ่านต้องการอ่านซ้ำ เพื่อที่จะเข้าใจมากยิ่งขึ้น และเมื่อให้นักเรียนอ่านซ้ำ ก็แทบไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะการอ่านนี้สนุกและน่าสนใจ
นักเรียนแม้จะแตกต่างกัน แต่ต่างก็จะชอบวรรณกรรมการ์ตูนในแต่ละรูปแบบ และด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบภาพที่เห็น บางคนอาจจะชื่นชอบที่หนังสือการ์ตูนทำให้เข้าใจเรื่องได้ดี บางคนก็สนุกกับการอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพที่ทำให้เขาได้รสเหมือนดูหนัง เราจึงใช้วรรณกรรมการ์ตูนไปส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือของนักเรียนในระดับหรือกลุ่มต่างๆ ได้ มันเป็นเครื่องมือที่มีค่าของครูที่จะช่วยให้นักเรียนซึมซาบเข้าไปเป็นความรักในการอ่านของพวกเขา
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Comments