สร้างนิสัยรักการอ่านจากหนังสือการ์ตูน
เป็นเวลานานกว่าหลายทศวรรษแล้วที่หนังสือการ์ตูนถูกมองมองในด้านลบ แต่เดี๋ยวนี้ครู นักวิจัยทางการศึกษา และบรรณารักษ์ห้องสมุด กำลังมีมุมมองใหม่ต่อหนังสือการ์ตูน และพวกเขาก็ชื่นชอบสิ่งที่กำลังเล็งเห็นอยู่นี้ด้วย เพื่อที่จะดึงเด็กๆ ให้มาอ่านหนังสือในสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกครอบงำด้วยโทรทัศน์ วิดีโอเกมและอินเตอร์เน็ตอย่างปัจจุบันนี้
เมื่อเร็วๆ นี้วารสารทางการศึกษา The Reading Teacher ได้ตีพิมพ์บทความที่สนับสนุนการใช้หนังสือการ์ตูนว่า “หนังสือการ์ตูนมีอำนาจในการกระตุ้นพัฒนาการในการเรียนรู้หนังสือสำหรับเด็กๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ตั้งแต่มีการนำเสนอรูปแบบการ์ตูนขึ้นในทศวรรษ 1930 รูปแบบที่มิใช่รูปแบบดั้งเดิมของวรรณกรรม (คือใช้ตัวอักษรสื่อความเท่านั้น) มักจะถูกขจัดออกไปโดยนักการศึกษาเพราะมองว่ามิใช่เนื้อแท้ของวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม หนังสือการ์ตูนซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพ แต่ก็มีองค์ประกอบที่ซับซ้อนทางวรรณกรรม หนังสือการ์ตูนได้รับการวิเคราะห์และตรวจสอบแล้วว่ามีองค์ประกอบทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม และประเด็นทางสังคมมากมาย”
เนื่องเพราะรูปแบบของหนังสือการ์ตูนแบ่งเป็นสองส่วน คือรูปภาพกับตัวอักษร หนังสือการ์ตูนจึงสามารถดึงความสนใจของเด็กๆ ได้นานกว่าหนังสือที่ใช้รูปแบบข้อความที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรเพียงอย่างเดียว รูปแบบของการใช้ภาพประกอบกับถ้อยคำได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการขยายและเพิ่มพูนคำศัพท์ของเด็กๆ โดยการให้บริบทของคำที่เด็กๆ มักจะไม่ค่อยได้พบเห็นโดยทั่วๆ ไป
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรณารักษ์ห้องสมุดจะไม่เพิ่มจำนวนหนังสือการ์ตูนและนิยายภาพ เข้ามาในห้องสมุด พวกเขาพบว่าการเพิ่มจำนวนของหนังสือดังกล่าวสามารถดึงเด็กๆ และวัยรุ่นให้เข้าห้องสมุดได้เพิ่มมากขึ้น นี่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในขณะที่การเน้นให้เด็กๆ อ่าน “สิ่งที่เหมาะสม” ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง แต่สิ่งแรกที่ควรต้องกังวลในปัจจุบันนี้ก็คือ การดึงเด็กๆ ให้มาอ่านหนังสือ โดยใช้ศักยภาพของหนังสือการ์ตูน ซึ่งผลการวิจัยได้พบแล้วว่า
· หนังสือการ์ตูนสอนและทำให้ทักษะการอ่านดีขึ้น
· เด็กๆ ชอบอ่านสิ่งที่สนุกสนานและทำให้เขาเพลิดเพลิน
· เด็กๆ จะชอบอ่านต่อไปอีก เพราะพวกเขาเห็นว่าการอ่านเป็นความเพลิดเพลิน สนุกสนาน
นักวิจัยและนักการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือด้วยโปรแกรมหนังสือการ์ตูน พบว่า หนังสือการ์ตูนได้เปิดเส้นทางด้านการศึกษาอีกมากมายหลายสาย หนังสือการ์ตูนประเภทนิยายภาพส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องแต่ง ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำเสนอแนวคิด เช่น โครงสร้างการเล่าเรื่องและพัฒนาการของตัวละคร พร้อมๆ กันนั้นก็ทำให้ทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์พัฒนาขึ้น หนังสือการ์ตูนยังเป็นตัวส่งผ่านไปสู่การอภิปรายประเด็นทางวัฒนธรรมและความคิดเห็นต่างๆ
ผู้อ่านหนังสือการ์ตูนจำนวนไม่น้อย มักลงเอยด้วยความต้องการสร้างเรื่องขึ้นมาด้วยตัวเอง การทำหนังสือผลงานของตัวเองนี้เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าไม่เพียงแต่การเรียนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังได้ทักษะในด้านศิลปะ การเขียน และการแสดงออกทางความคิดอีกด้วย
หนังสือการ์ตูนและนิยายภาพทุกวันนี้ส่วนมากเขียนขึ้นโดยผู้ใหญ่ จึงต้องสอบถามบรรณารักษ์และผู้รู้ว่าเรื่องใดเหมาะสมสำหรับเด็กวัยใด ส่วนหนังสือการ์ตูนที่สร้างสรรค์ด้วยตัวเด็กเองน่าจะช่วยส่งเสริมทัศนคติด้านการอ่านที่เด็กๆ ต้องการได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เห็นการอ่านเป็นยาขม และอาจเป็นหนทางที่จะเปิดโลกแห่งจินตนาการและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดีด้วย
นี่เป็นบทเรียนที่ครูและพ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักถึง เมื่อเด็กๆ อ่านสิ่งที่ทำให้พวกเขาตื่นเต้นชอบใจ พวกเขาก็จะอ่านได้ดีขึ้น และจะอ่านเพิ่มขึ้นอีกต่อไปเรื่อยๆ
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Comments