top of page
รูปภาพนักเขียนReader Center

คนเราอ่านเพื่ออะไร





คนเราอ่านเพื่ออะไร

มีเหตุผลมากมายในการเลือกอ่านหนังสือของคนแต่ละคน และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน” คนอ่านหนังสือด้วยความเพลิดเพลินจะเป็นบ่อเกิดสร้างนิสัยรักการอ่านได้ดี

หนังสือทำให้เราหัวเราะ ร้องไห้ สุขหรือทุกข์ได้ในช่วงเวลาที่อ่าน หนังสือคืออาหารหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตทางจิต หนังสือคือถ้อยคำของความคิด เมื่อเราเปิดหนังสืออ่าน เราจะรู้จักชีวิต รู้จักความฝันและจินตนาการ คุณค่าของการอ่านใช่ว่าต้องได้มาด้วยการอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง การปล่อยให้หนังสือก้าวเข้ามาในชีวิตคือการเพิ่มพูนความคิดและภูมิปัญญาของผู้อ่าน

หนังสือแต่ละเล่มจะมีโลกของตัวมันเอง เป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาทั้งจากจินตนาการและประสบการณ์ตรง การอ่านหนังสืออาจทำให้เราหลีกหนีไปไกลโพ้นสู่ดินแดนมหัศจรรย์อีกแห่ง แต่บางครั้งเราก็อาจรู้สึกว่าความคิดเห็นของเราช่างพ้องพานกับเรื่องราวในหนังสือ ก่อเกิดแนวทางในการ “สะกดรอย” หรือ “แยกตนเองออกมา” จากสิ่งเหล่านั้นได้

หนังสือมอบสำนึกแห่งโลกที่เป็นส่วนตัวให้กับผู้อ่าน อัลแบร์โต มังเกล (Alberto Manguel) ผู้เขียน A History of Reading กล่าวว่า “การอ่านเหมือนกับการเข้าฌานที่อยู่ระหว่างการหลับและการตื่น ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยรู้สึกเหงาบ้างไหม... (เมื่อยามเด็ก) นานๆ ครั้งที่ผมจะมีโอกาสอยู่กับเด็กคนอื่นๆ ผมพบว่าการละเล่นและการพูดคุยของพวกเด็กเหล่านั้นช่างน่าสนใจน้อยกว่าการผจญภัยและบทสนทนาที่ผมอ่านจากหนังสือเสียนี่กระไร... หนังสือทำให้ผมมีบ้านถาวร เป็นบ้านที่ทำให้ผมอยู่ได้อย่างแท้จริงตามความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด...”

โลกของหนังสือที่กว้างใหญ่มีอะไรมากมายให้ค้นหา การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแต่วัยเยาว์จึงเป็นการเปิดบานประตูสู่โลกกว้าง โลกของนักอ่านจึงเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งการแสวงหา แม้ก้นบึ้งอารมณ์ความคิดของตนเองก็อาจพบได้จากหนังสือ

การอ่านจึงเป็นการสะสมความคิด การอ่านสิ่งใหม่ๆ แต่ละครั้งก็คือการต่อยอดของสิ่งที่เคยอ่านไปแล้วให้เพิ่มพูนขึ้น อุปมาเหมือนลำดับขั้นทางเรขาคณิตที่จะสะสมทวีคูณขึ้นอย่างไม่มีที่สิ่นสุด

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน

ดู 13 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Yorumlar


bottom of page