“การอ่านในวัยเด็กนั้นเป็นเรื่องของการศึกษาด้วยหัวใจ ทำให้เด็กได้สัมผัสความสูงส่งที่มีอยู่ในส่วนลึกของวิญญาณ ถ้อยคำที่เผยถึงความคิดและความฝันจะอยู่ในหัวใจของเด็กเสมอ เสมือนว่าเมล็ดพืชแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้เพาะหว่านลงที่ตรงนั้น”
ความคิดและความฝันจากโลกของการอ่าน
ซูคอมลินสกี้ นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงชาวรัสเซียเคยกล่าวว่า “การอ่านในวัยเด็กนั้นเป็นเรื่องของการศึกษาด้วยหัวใจ ทำให้เด็กได้สัมผัสความสูงส่งที่มีอยู่ในส่วนลึกของวิญญาณ ถ้อยคำที่เผยถึงความคิดและความฝันจะอยู่ในหัวใจของเด็กเสมอ เสมือนว่าเมล็ดพืชแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้เพาะหว่านลงที่ตรงนั้น”
ผลการวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่ พี่เลี้ยง มีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองได้ตามอายุ หากแต่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับเป็นสำคัญด้วย ผลการศึกษาพบว่า ในระยะขวบปีแรกของชีวิตนั้น การดูแลเอาใจใส่ ความรัก ความกระตือรือร้นและสม่ำเสมอในการพูดคุยกับเด็ก รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เด็กได้พบเห็นนั้นมีผลต่อปฏิกิริยาโต้ตอบของเด็กอย่างมากมาย และพัฒนาการของสมองเด็กจะเติบโตรวดเร็วจนถึงวัยสามขวบครึ่ง และจากมาตรฐานการวัดสติปัญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กุญแจสำคัญของความสามารถในการอ่านมักเกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบของโรงเรียนเสียอีก
ประเด็นสำคัญที่ได้พบเพิ่มเติมก็คือ ค่านิยมเกี่ยวกับการอ่านของพ่อแม่และพี่เลี้ยง หากผู้เลี้ยงดูเด็กมีค่านิยมเกี่ยวกับการอ่านเช่นไร เท่ากับเป็นการแนะนำให้เด็กได้รู้จักหนังสือเช่นนั้น ในช่วงปฐมวัย หากพ่อแม่และพี่เลี้ยงนิยมการอ่านและได้นำหนังสือเข้าสู่ชีวิตเด็ก โดยเฉพาะหนังสือนิทาน เด็กก็จะได้ซึมซาบการรู้จักหนังสือในทางที่ดี ได้สัมผัสหนังสือตั้งแต่เล็ก พอถึงช่วงวัยไปโรงเรียน การสานต่อพื้นฐานที่ดีย่อมไปได้รวดเร็ว
นักการศึกษาและนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กต่างก็ย้ำว่า นิทานเป็นสิ่งที่แยกไม่ได้จากความงาม เพราะนิทาน เด็กๆ จึงได้รู้จักโลกอันสุนทรีย์ คนที่ชอบอ่านนิทานหรือถูกนิทานกล่อมเกลามาตั้งแต่วัยเด็กนั้น จะจัดระเบียบชีวิตได้ดี และมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการคาดการณ์ได้แม่นยำกว่าผู้ที่ถูกบังคับให้อ่าน... การอ่านในช่วงแรกของชีวิต จะกลายเป็นสิ่งที่อยู่ และคงอยู่ตลอดไป เป็นเหมือนเส้นทางให้จิตวิญญาณค้นพบตัวเองในการดำรงชีวิต.. นี่ก็หมายความว่าการรู้จักชีวิตตั้งแต่เล็กก็คือการมีมุมมองรับรู้ต่อชีวิตจริงแล้ว
เด็กสามารถฟังหรืออ่านนิทานเรื่องเดิมได้เป็นสิบๆ เที่ยวด้วยความพึงพอใจ เพราะพวกเขาสนุกกับมัน และพบสิ่งใหม่ๆ ในนิทานเรื่องเดิมทุกครั้งไป เด็กสามารถพัฒนาความคิดจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปสู่สิ่งที่เป็นนามธรรมได้ เนื่องจากนิทานนำทางพวกเขา ช่วยให้เด็กเข้าใจโลกและชีวิตโดยปริยาย และก้าวสู่โลกของหนังสือที่กว้างใหญ่ไพศาลขึ้น
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Comments