นิทานภาพกับความจำแบบ Photo Graphic Memory
หนังสือสำหรับเด็กวัยแรกเกิดถึงสามขวบ เคยเป็นเรื่องที่ความรู้ว่าด้วยการอ่านในยุคก่อนไม่ได้กล่าวถึง เพราะเข้าใจกันว่าการอ่านหนังสือ จะเริ่มต้นก็เมื่อเด็กอ่านตัวหนังสือออก แต่ปัจจุบันความรู้ในเรื่องการอ่านเปลี่ยนไป หนังสือภาพสำหรับเด็กได้รับการยอมรับว่า เป็นสื่อแห่งการพัฒนาความสามารถในการรับรู้ของเด็กตั้งแต่ยังเยาว์ สู่การมีหัวใจอันเปิดกว้างและจินตนาการอันสร้างสรรค์และเสรี
หนังสือที่เหมาะกับเด็ก 0-3 ขวบ คือหนังสือภาพ อันเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง ขณะที่เด็กฟังเสียงผู้ใหญ่เวลาอ่านหนังสือภาพให้ฟังนั้น สายตาของเด็กก็จะไล่ดูภาพตรงหน้า หากเป็นหนังสือภาพที่ดีแล้ว ภาพในสายตาเด็กกับเสียงที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังจะผสานกลมกลืนสนิทเนียน จนเกิดเป็นภาพต่อเนื่องเคลื่อนไหวในสมองของเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กสร้างพลังจินตนาการได้เต็มเปี่ยม
ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพเพื่อเด็ก อธิบายว่า การอ่านหนังสือภาพของผู้ใหญ่และเด็กนั้นไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่สนใจที่หัวเรื่อง บทเรียนที่ได้รับ และประโยชน์ของหนังสือ แต่เด็กมองที่ภาพ ความเคลื่อนไหวและรายละเอียดในภาพ รวมทั้งความสนุกสนานอันต่อเนื่องของเรื่องราว กล่าวคือ ผู้ใหญ่มองว่าหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องอะไร ส่วนเด็กมองว่าหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องอย่างไร
ภาพในหนังสือภาพจึงมีความสำคัญมากต่อเด็ก ในขณะที่หูฟังเสียงเล่าเรื่องราวจากพ่อหรือแม่ สายตาของเด็กก็ไล่ดูภาพและสนุกกับภาพ
ผู้เชี่ยวชาญยังบอกต่อไปว่า ภาพในหนังสือภาพสำหรับเด็กจึงต้องเป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ร่วม และรู้สึกเพลิดเพลินทุกครั้งกับหนังสือภาพแต่ละเล่มนั้น เด็กสนุกกับการสร้างจินตนาการ สนุกกับรายละเอียดของภาพ สนุกกับจังหวะจะโคนของภาษา และสนุกกับภาพรวมทั้งหมด หนังสือภาพที่ดีจึงต้องให้สิ่งเหล่านี้แก่เด็ก
จากการวิจัยพบว่า วัยแรกเกิดถึงหกขวบนั้นเป็นช่วงเวลาที่สมองจะพัฒนาสูงสุดในทุกๆ ด้านหากได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการอ่านหนังสือภาพดีๆ ให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลดีเยี่ยมต่อพัฒนาการในเด็กๆ ของเรา
ภาษาภาพ หรือภาพในหนังสือ เป็นภาษาที่จะทำให้เด็กได้สัมผัสกับองค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องราว ประสบการณ์ที่ได้รับรู้จะเข้มข้น และจดจำได้นาน
และกลไกในสมอง การจดจำเป็นภาพ เป็นความจำในสมองซีกขวา มีขนาดความจำใหญ่เป็นทบทวีกว่าการจำด้วยระบบสัญลักษณ์ของตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียว และรับข้อมูลได้เร็ว และได้ครั้งละมากๆ เด็กแรกเกิด 1-2 สัปดาห์ก็สามารถจำภาพและผูกพันกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของแม่ได้แล้ว นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของสัญลักษณ์ที่เรียกว่าภาพ
คนฉลาดเป็นเลิศบางคนมีระบบความจำที่เรียกว่า “photo graphic memory“ จะเป็นคนที่มี ความจำเร็ว ความจำดี และความจำจุ คือจำอะไรเหมือนถ่ายเป็นรูปภาพไว้ เวลาจำอะไรก็จะจำเป็นภาพ มีรายละเอียด เป็นความจำที่ใหญ่มาก ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ก็จะมีความจุของ memory ที่ใหญ่มากๆ
วิธีการฝึกนอกจากจะได้มาจากการดูรูปภาพ จดจำรูปภาพ ดูอะไรก็จดจำสิ่งนั้นเหมือนถ่ายภาพไว้ จะทำให้จำเป็นภาพ นึกคิดอะไรออกมาเป็นภาพได้
การได้สัมผัสกับหนังสือภาพที่มีคุณค่าแต่ยังแบเบาะ และพัฒนาต่อเนื่องไป เป็นก้าวที่มีความสำคัญยิ่งก่อนที่จะเชื่อมโยงต่อยอดไปเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้อีกมากมายมหาศาล
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Comments