งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตต ได้ติดตามผู้เข้าร่วมการทดสอบ 82 ราย ที่ให้อ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนที่ฝ่าฟันเอาชนะความยากลำบาก เพื่อที่จะได้ไปออกเสียงเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มที่อ่านมีแนวโน้มการไปเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้อ่าน มากถึงร้อยละ 65
การอ่านเป็นหนึ่งในความสุขของชีวิตที่มาพร้อมกับประโยชน์ต่อสุขภาพ
หนอนหนังสือจะเข้าใจได้ดีถึงมหัศจรรย์ของการอ่านที่มีต่อสุขภาพ-สุขชีวิต นั่นก็คืออุปนิสัยรักการอ่านจะนำพาให้หนอนหนังสือมีสุขภาพที่ดีในด้านต่าง ๆ และมีความสุข ถ้าใครต้องการจะเก็บเกี่ยวประโยชน์ของการอ่านอย่างแท้จริงแล้วล่ะก็ หยิบหนังสือขึ้นมา แล้วก็อ่าน...จากเล่มหนึ่งไปยังอีกเล่มหนึ่ง อีกเล่มหนึ่ง...
ย้ำ หนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่ม หนังสือที่ใช้กระดาษพิมพ์เป็นเล่มแบบที่เราคุ้นเคยมาแต่ก่อนเก่านั่นแหละ
ด้วยวิทยาการด้านสมองในศตวรรษที่ 21 ทำให้นานาประเทศได้ความรู้ชัดแจ้งว่า เครื่องมืออันสำคัญยิ่งในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นับแต่ปฐมวัย ไปจวบจนทุกวัยในชีวิตคนเรา คือ การอ่านหนังสือ
แม้ว่าโลกเราจะรุดไปในโลกของดิจิทัล ผู้ที่เป็นเจ้าของอีบุ๊คจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ทว่าหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มก็ไม่ได้หายไปไหน ร้อยละ 88 ของชาวอเมริกันที่อ่านอีบุ๊ค ก็ยังอ่านหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มด้วยเช่นกัน และร้อยละ 92 ของนักศึกษานานาชาติชอบหนังสือที่เป็นรูปเล่มมากกว่า ขณะที่ระบบดิจิทัลให้ความสะดวกในการดาวน์โหลดและมีน้ำหนักที่เบากว่า แต่ก็ไม่อาจนำพาให้เรารู้สึกรื่นรมย์ได้เหมือนอ่านหนังสือดี ๆ จากรูปเล่มแบบเก่า
เหตุผล เพราะไม่มีอะไรเหมือนกลิ่นอายของกระดาษ หรือเสียงสัมผัสจากการรีดสันหนังสือ และการพลิกหน้ากระดาษที่ชวนให้ผู้อ่านติดตามไปเรื่อย ๆ หนังสือยังให้ประโยชน์ต่อสุขภาพพร้อม ๆ ไปกับสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของเรา
อรรถประโยชน์ของการอ่านต่อสุขภาพกาย
การอ่านหนังสือมีประโยชน์ต่อสุขภาพกาย ที่เห็นได้ชัด ๆ จากงานวิจัยดังนี้
- ประโยชน์ต่อการลดความเครียด
งานวิจัยในปี 2009 ของมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ ได้เปรียบเทียบผลของกิจกรรมต่าง ๆ ต่อการลดระดับความเครียด ซึ่งประกอบด้วย การฟังดนตรี การเพลินอยู่กับการนั่งจิบเครื่องดื่มอุ่น ๆ การเดินเล่น และการอ่าน ผลพบว่า วิธีที่ลดความเครียดได้ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งก็คือ การอ่าน
- ประโยชน์ต่อการนอน
จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 95 ของชาวอเมริกันมีการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน แสงจากหน้าจอของเครื่องมือต่าง จะยับยั้งการผลิตเมลาโทนินซึ่งช่วยในการนอนหลับ องค์กรด้านบริการข้อมูลสุขภาพในระดับแถวหน้าของอเมริกาคือเมโยคลินิคจึงเตือนให้เลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน และแนะนำให้อ่านหนังสือ (ที่เป็นเล่ม) เป็นหนึ่งในกิจวัตรก่อนเข้านอน
- ประโยชน์ต่อการตระหนักรู้ภาวะสุขภาพ
ศูนย์วิจัยดัฟเฟอริน ในออนทาริโอ ประเทศแคนาดา รายงานถึงการศึกษาในปี 2014 ที่เน้นในประเด็นการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมกับการรับรู้ภาวะทางสุขภาพ โดยจัดแบ่งตามกลุ่มอายุ สถานะทางเศรษฐกิจ รายได้ การศึกษา และคนพิการ เมื่อเจาะจงเฉพาะเรื่องของการอ่าน กลุ่มตัวอย่างที่ชอบอ่านหนังสือ (เพื่อความเพลิดเพลิน) มีแนวโน้มที่จะระบุว่าตนเองเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มากกว่าผู้ที่ไม่อ่านถึงร้อยละ 33
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีทักษะการอ่านต่ำ มีแนวโน้มที่จะระบุว่าตนเองมีปัญหาทางด้านสุขภาพ (กาย) มากกว่าผู้ที่มีทักษะการอ่านสูง ช่องว่างยิ่งกว้างขึ้นตามอายุ
การวิจัยนี้สรุปได้ว่า “การอ่าน เป็นตัวแปรที่มีสหสัมพันธ์อย่างสูง และสูงที่สุด ต่อการรับรู้สุขภาพของบุคคล”
อรรถประโยชน์ของการอ่านต่อสุขภาพจิต
การอ่านหนังสือมีประโยชน์ต่อการพัฒนา “ด้านใน” ของบุคคล ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคุณลักษณะของบุคลิกภาพภายใน หรือสุขภาพจิตนั่นเอง ในที่นี้ได้ประมวลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามาโดยย่นย่อ ดังนี้
- การมีเป้าหมายในชีวิต
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตต พบว่า หนังสือสามารถเพาะหว่านการคิดอย่างมีเป้าหมายให้กับผู้อ่าน เพราะหนังสือมักจะเป็นเรื่องราวของตัวละครที่จัดการกับปมปัญหาของตน (ที่มักจะเรียกกันว่าความขัดแย้งของเรื่อง) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นักอ่านจึงมักจะมีแนวโน้มทั้งการกำหนดจุดมุ่งหมายและการไปให้ถึงเป้าหมายของตนจากการซึมซับเรื่องราวในหนังสือที่อ่าน
- ความมั่นใจในตนเอง
รายงานการวิจัยในปี 2011 ของมหาวิทยาลัยเซนทรัลมิซซูรี แสดงให้เห็นว่า การอ่านทำให้เกิดวงจรความภูมิใจในคุณค่าเชิงบวกของตน (positive self-esteem cycle) ยิ่งอ่านได้มากขึ้น ความมั่นใจในตัวเองก็ยิ่งมากขึ้น และนักอ่านที่มั่นใจในตนเองก็มีแนวโน้มที่จะเลือกเนื้อหาที่ยากมากขึ้น ซึ่งทำให้เขายิ่งเป็นนักอ่านที่ดีขึ้นไปอีก
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ในปี 2012 งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตต ได้ติดตามผู้เข้าร่วมการทดสอบ 82 ราย ที่ให้อ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนที่ฝ่าฟันเอาชนะความยากลำบาก เพื่อที่จะได้ไปออกเสียงเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มที่อ่านมีแนวโน้มการไปเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้อ่าน (ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมในงานวิจัยนี้) มากถึงร้อยละ 65
เหตุผลทางวิทยาศาสตร์เข้ม-เข้มที่ได้สาธยายขยายความมานี้ ชัดเจนและชักจูงให้เชื่อมั่นที่จะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำด้วยเสียงดัง ๆ ว่า “หนังสือสร้างสุขภาพ และคุณภาพชีวิต”
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และ พิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน
コメント