จิตแพทย์ได้ทดลองใช้หนังสือบำบัด โดยให้คนไข้อ่านหนังสือประเภท self-help ร่วมกับการเข้ารับฟังถึงวิธีการใช้หนังสือ พบว่า ในช่วง 1 ปี มีผลให้ระดับของภาวะซึมเศร้าของคนไข้ลดลง และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคนไข้ที่รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
หนังสือประเภทที่เรียกว่า self-help หรือ หนังสือเพื่อการพัฒนาตนเองแนว “How to” อาจช่วยให้ผู้อ่านใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือตัวเองได้จริง ๆ ดังที่ปรากฎในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE แสดงให้เห็นว่า จิตแพทย์ได้ทดลองใช้หนังสือบำบัด โดยการมอบให้คนไข้อ่านหนังสือประเภท self-help ร่วมกับการเข้ารับฟังถึงวิธีการใช้หนังสือ พบว่า ในช่วง 1 ปี มีผลให้ระดับของภาวะซึมเศร้าของคนไข้ลดลง และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคนไข้ที่รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
“เราพบว่าวิธีนี้มีผลทางการดูแลรักษาอย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ และผลวิจัยก็ช่วยสนับสนุนมาก” หัวหน้าทีมวิจัย คริสโตเฟอร์ วิลเลียมส์ แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สหราชอาณาจักรได้กล่าวในรายการโทรทัศน์และวิทยุของบีบีซี และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “โรคซึมเศร้าทำลายแรงจูงใจของคน และทำให้ยากที่จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”
นี่คือคุณประโยชน์ของหนังสือแนวพัฒนาตนเอง ที่เรียกว่า self-help books
หนังสือแนวนี้เป็นหนังสือที่ให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการแก้ปัญหาในชีวิตหรือปัญหาส่วนบุคคล ที่เรียกว่า self-help เป็นการเรียกตามชื่อหนังสือขายดีของ ซามูเอล สไมลส์ ที่พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1859 บางครั้งก็เรียกในหนังสือในกลุ่มนี้ว่า self-improvement books ซึ่งมีความใกล้เคียงกับหนังสือฮาวทูแนวจิตวิทยา ที่ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาและการพัฒนาตัวเองที่เราพบเห็นในร้านหนังสือทั่วไป
นอกจากในกรณีการวิจัยเชิงทดลองประสิทธิผลของหนังสือแนวพัฒนาตนเองที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์แล้ว ศาสตราจารย์ปีเตอร์ บาเวอร์ แห่งศูนย์วิจัยบริการสุขภาพ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ก็ได้ริเริ่มดำเนินการวิจัยกับผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง และรายงานผลการวิจัยในปี ค.ศ. 2013 ว่า หนังสือประเภท self-help สามารถนำไปใช้บำบัดได้แม้ในกรณีของคนไข้ที่มีภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง โดยการใช้หนังสือประเภท self-help และเว็บไซต์โต้ตอบ หากแต่เป็นการบำบัดแบบไม่เข้มข้น โดยการวิเคราะห์แบบ meta-analysis จากข้อมูลของคนไข้เฉพาะรายทั้งหมด พบว่ามีแนวโน้มได้ประโยชน์มากเท่ากับหรือมากกว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงน้อยกว่า
บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้จากหนังสือ
ในปี 2009 คณะนักวิจัยชาวแคนาดา ได้ทำการวัดลักษณะทางบุคลิกภาพและอารมณ์ของอาสาสมัคร 166 ราย จากนั้นก็แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ครึ่งหนึ่งอ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนสองคนที่ต่างก็แต่งงานแล้วและเริ่มมามีความสัมพันธ์กัน ซึ่งจะส่งผลในการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้อย่างมาก ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้อ่านเนื้อหาจากเรื่องเดียวกันนี้แต่เขียนในรูปแบบแนวสารคดี (โดยใช้ข้อความแบบทางการ) จากนั้นก็มาวัดลักษณะทางบุคลิกภาพของผู้อ่านอีกครั้ง
ผู้ที่อ่านงานเขียนในรูปแบบบันเทิงคดีมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางบุคลิกภาพมากกว่า แต่ที่มีนัยสำคัญมากที่สุดก็คืออาสาสมัครแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพในระดับที่แตกต่างกัน ชี้ให้เห็นว่า การตอบสนองของคนเราต่อเรื่องที่อ่านไม่เท่ากัน แม้ว่าโดยรวมแล้วหนังสือแนวบันเทิงคดีจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และ พิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน
コメント