อัลฟ่า-ธีต้า กับการอ่านหนังสือภาพก่อนนอน
ซิชิดะ มากาโตะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนการสอนที่เน้นการใช้สมองซีกขวาในญี่ปุ่น ได้เสนอแนวการสอนด้วยกระบวนการ “คิดเป็นภาพ” และชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการจินตนาการของสมองซีกขวาจะช่วยพัฒนาเรื่องความจำที่มีความจุขนาดใหญ่
สมองซีกขวายังเป็นแหล่งผลิตคลื่นที่เป็นคลื่นเดียวกับจักรวาล อันเป็นคลื่นที่เกิดขึ้นได้เมื่อคนเราอยู่ในสมาธิจิต นั่นคือคลื่นในอัตรา 7.5 รอบต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วระหว่างคลื่นอัลฟ่า (Alpha) และคลื่นธีต้า (Theta) ในสภาวะนั้นจิตของคนเราจะสงบและซึมซับสิ่งต่างๆได้ดีที่สุด และยังมีคำอธิบายจากผู้รู้อีกด้วยว่า ขณะนั้นสภาวะนั้น เราสามารถรับอำนาจจากจักรวาลได้ด้วย
การอ่านหนังสือภาพ (Picture Book) ให้ลูกฟังก่อนนอน เป็นการได้ดูภาพ เกิดจินตนาการผสมผสาน เป็นช่วงเวลาที่เด็กผ่อนคลาย ในสภาวะนี้เองจะทำให้คนสร้างคลื่นนี้ได้ (จากการทำงานของสมองซีกขวา) ส่งผลต่อความจำและความคิดสร้างสรรค์ที่น่าอัศจรรย์
อธิบายในแง่วิทยาการทางสมองก็ได้ว่า เมื่อสมองเข้าสู่ช่วงที่มีคลื่นธีต้า ซึ่งเป็นคลื่นที่ทำให้คนเราผ่อนคลายที่สุด ผลพวงจากการเข้าสู่สภาวะที่เป็นอยู่ระหว่างคลื่นธีต้าและอัลฟ่า จะทำให้สมองมี Mental Imagery คือสามารถจินตนาการเห็นภาพ และมีความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิด
ปรมาจารย์ด้านหนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย ทาดาซิ มัตสุอิ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การเลี้ยงดูเด็กไม่ควรอยู่ในที่เสียงดังหนวกหู มีแต่ความวุ่นวาย เช่น ในบ้านที่มีเสียงวิทยุ โทรทัศน์ดังสนั่นทั้งวัน เพราะจะทำให้เด็กขาดสมาธิ
พ่อแม่อย่าได้พยายามยัดเยียดความรู้ใส่สมองลูกเลย เพราะแท้จริงแล้วกุญแจสำคัญของการเรียนรู้อยู่ที่พลังสมาธิ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมอันวุ่นวายจะขาดพลังสมาธิ ถึงพ่อแม่จะพยายามเร่งรัดใส่ความรู้ให้แก่เด็ก เด็กก็รับไม่ได้ ทำให้พ่อแม่วิ่งว้าวุ่นใจ ส่งผลให้เด็กยิ่งขาดสมาธิมากขึ้น
เวลาดีสำหรับการเลี้ยงดูเด็กน้อยด้วยหนังสือ คือเวลาก่อนนอน อันเป็นเวลาที่เงียบ บรรยากาศที่ว่างจากทุกสิ่งที่ว้าวุ่นในชีวิตประจำวัน สมองเด็กเกิดความว่างเมื่อเขาได้ “ดิ่ง” เข้าไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งคือหนังสือภาพที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังก่อนนอน เวลาที่ผ่านไปอย่างสงบ ความสงบทำให้ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยินมีพลัง และเป็นทวีคูณในห้วงแห่งสมาธิของเด็กน้อย
ว่ากันว่า อารยธรรมและความคิดของมนุษย์เกิดขึ้นจากความเงียบและความว่าง หรือความสงบภายนอก และความปลอดโปร่งภายใน หนังสือดีๆ ก่อนนอน ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ต่อชีวิตและสังคมมาแล้วมากมาย...
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Kommentare