“...ผมไม่ทำอะไรเลยนอกจากฟัง ผมอยากปักหลักอยู่อย่างนั้น... และเอาหมอนมาหนุนให้สูงขึ้น ฟังพยาบาลอ่านเทพนิยายสยองขวัญของกริมมส์ บางครั้งเสียงของเธอก็ทำให้ผมเคลิ้มหลับ แต่บางครั้งก็ทำให้ผมร้อนรุ่มไปด้วยความตื่นเต้นและคะยั้นคะยอให้เธออ่านต่อเพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นในเรื่อง อยากรู้เร็วกว่าที่ผู้เขียนตั้งใจไว้เสียอีก แต่ส่วนใหญ่แล้วผมสนุกกับความรู้สึกอันหลากหลายจากการพาไปของถ้อยคำ และรู้สึกด้วยประสาทสัมผัสว่าผมได้เดินทางไปในสถานที่ไกลโพ้นที่สวยงาม ที่ซึ่งผมแทบไม่กล้ากลับมาดูการไขความลับที่หน้าสุดท้ายของหนังสือเลย..”
อ่านหนังสือดังๆ ความสุขของคนฟังและคนอ่าน
ผู้รอบรู้เรื่องหนังสือระดับโลกอย่าง อัลแบร์โต มังเกล ได้เขียนถึงประสบการณ์ของเขาไว้ในหนังสือ A History of Reading เมื่อปี 1996 ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...ผมไม่ทำอะไรเลยนอกจากฟัง ผมอยากปักหลักอยู่อย่างนั้น... และเอาหมอนมาหนุนให้สูงขึ้น ฟังพยาบาลอ่านเทพนิยายสยองขวัญของกริมมส์ บางครั้งเสียงของเธอก็ทำให้ผมเคลิ้มหลับ แต่บางครั้งก็ทำให้ผมร้อนรุ่มไปด้วยความตื่นเต้นและคะยั้นคะยอให้เธออ่านต่อเพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นในเรื่อง อยากรู้เร็วกว่าที่ผู้เขียนตั้งใจไว้เสียอีก แต่ส่วนใหญ่แล้วผมสนุกกับความรู้สึกอันหลากหลายจากการพาไปของถ้อยคำ และรู้สึกด้วยประสาทสัมผัสว่าผมได้เดินทางไปในสถานที่ไกลโพ้นที่สวยงาม ที่ซึ่งผมแทบไม่กล้ากลับมาดูการไขความลับที่หน้าสุดท้ายของหนังสือเลย..”
การอ่านออกเสียงให้ผู้อื่นฟังมีนัยยะถึงการแบ่งปันกันอ่าน ร่วมกันรับรู้ เป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ฟังรับอรรถรสแห่งความเพลิดเพลินที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้น และมีพลังที่จะส่งเสริมให้ผู้ฟังเกิดความต้องการที่จะเป็นผู้อ่านเองได้
ครูอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังมีมาเป็นศตวรรษแล้ว เรารู้ดีว่าเวลาที่ใช้ไปกับการอ่านให้ฟังนั้นมีค่าต่อพวกเขามาก การฟังนิทานของเด็กๆ ก็เหมือนกับการฟังเพลง พวกเขาจะเคลิ้มไปกับเรื่องราว ถ้อยคำ น้ำเสียงที่ได้ยินได้ฟัง ดั่งเป็นเสียงดนตรีเลยทีเดียว
ผู้เริ่มหัดอ่านฟังเรื่องราวแล้วหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาดูแล้วดูอีก อยากจะเป็นผู้เล่าบ้าง บางครั้งพวกเขาก็จดจำเนื้อเรื่องได้แล้วเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนๆ และบางคราวก็ทำท่าทางเหมือนกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง
แต่น่าเสียดายที่การอ่านออกเสียงให้ฟังในโรงเรียนโดยครูเป็นผู้อ่าน หรือโดยนักเรียนก็ตาม มักจะยุติไปเมื่อเด็กอ่านด้วยตัวเองได้แล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วการอ่านออกเสียงมีคุณค่ามหาศาล อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการโฆษณาเชิญชวนให้อยากอ่าน และนำไปสู่การแสดงออกในด้านศิลปะแห่งการใช้เสียง ศิลปะแห่งการสื่อสาร
การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง ช่วยให้พวกเขาพัฒนาและปรับปรุงทักษะด้านการอ่าน เขียน พูด และฟังให้ดีขึ้น และเมื่อเด็กฟังอะไรที่ในระดับสูงกว่าที่เขาอ่านเองได้ การฟังนั้นก็จะกระตุ้นการเพิ่มพูนและความเข้าใจในคำศัพท์และรูปแบบของภาษา
ครูผู้สอนด้านภาษายืนยันว่าการอ่านออกเสียงให้ฟัง จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ในวิชาวรรณกรรมในแบบที่การอ่านในใจ หรือการแยกตัวไปอ่านด้วยตนเองตามลำพังไม่สามารถทำได้
โครงการท้าทายการอ่านของกระทรวงศึกษาธิการ สหรัฐอเมริกา ได้สนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ มีการจัดโปรแกรมสอนเสริมเพื่อช่วยเพิ่มระดับการอ่านของนักเรียน และเพื่อเพิ่มความตระหนักของผู้ปกครองเกี่ยวกับผลที่เด็กจะได้รับจากการอ่าน การอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นส่วนสำคัญของโปรแกรมเหล่านั้น โรงเรียนหลายแห่งมีโครงการแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ทราบถึงความสำคัญและ “วิธี” อ่านให้เด็กๆ ฟัง
โครงการ “หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน” ของศูนย์การแพทย์บอสตัน จัดให้หนังสือและเด็กๆ มาอยู่ร่วมกันในคลินิก “ในห้องรอพบแพทย์ อาสาสมัครชุมชนจะอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังเพื่อดึงความสนใจของพวกเขาไว้ เมื่อหมอได้พบกับเด็กๆ คุณหมอก็ได้ใช้หนังสือเป็นเกณฑ์ชี้วัดความก้าวหน้าด้านพัฒนาการ และเด็กๆ ก็จะได้รับหนังสือเล่มใหม่นำกลับบ้าน
ผู้รู้ในด้านหนังสือยืนยันว่า การอ่านออกเสียงดังคือความสุข การให้คนอื่นอ่านหนังสือให้ฟังเป็นความสุขของคนจำนวนมาก และสำหรับคนอีกจำนวนมาก การอ่านให้คนอื่นฟังด้วยสุ้มเสียงที่น่าฟัง สื่อความหมายได้ดี นับเป็นความสุขที่มีคุณอนันต์ และสำหรับหลายๆ คน ทั้งอ่านให้คนอื่นฟัง และฟังคนอื่นอ่าน ล้วนเป็นความสุขที่หาค่ามิได้
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
Commentaires