อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สุดยอดของการพัฒนาสมอง
“การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม” นี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัยเรื่องการอ่านของประเทศอังกฤษ งานวิจัยนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะว่า ขอให้ผู้ใหญ่ใช้เวลาเพียงวันละ 20 นาทีร่วมกับเด็กๆ ในการอ่านเรื่องที่ทำให้เขาเพลิดเพลิน จะให้ผลดีในทุกๆ ด้าน และจะเป็นบ่อเกิดของการสร้างนิสัยรักการอ่านที่น่าอัศจรรย์
เพราะเหตุใด การอ่านนั้นจึงต้องเป็น การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน
สมองจะทำงานได้ดีเมื่อเราอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายและไม่เครียด ปกติเมื่อสมองรับข้อมูลโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) ข้อมูลเหล่านั้นจะเข้าไปที่ก้านสมองก่อน จากนั้นจึงถูกส่งไปที่ธาลามัส (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองชั้นนอก) เพื่อแยกข้อมูลข่าวสาร ก่อนที่จะส่งไปส่วนอื่นๆ เช่นเมื่อเวลาเราอ่านหนังสือ ธาลามัสจะส่งข้อมูลไปยังเปลือกหุ้มสมองหรือซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็น ซีรีบรัล คอร์เท็กจะแยกแยะว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูล เก็บไว้ชั่วคราวหรือส่งต่อไปเก็บไว้ที่หน่วยความจำถาวร การถ่ายทอดข้อมูลจะขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์ในขณะนั้นด้วย
การอ่านนิทาน การ์ตูน หรือหนังสือที่เพลิดเพลินชวนติดตาม นอกจากสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านแล้วยังเป็นตัวเชื่อมไปสู่การอ่านหนังสือแนวอื่นๆ ในเวลาต่อไปด้วย
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการของสมอง ได้เปิดมิติความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกที่เกิดขึ้นในสมอง ว่าการนำข้อมูลทุกชนิดเข้าสู่สมอง ถ้าผ่านอารมณ์ความรู้สึก ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นสมองส่วนความจำ จะส่งความรู้ทั้งหมดเข้าสู่ระบบความจำถาวรของสมอง ถ้าไม่มีอารมณ์มากำกับการเรียนรู้ หรือไม่เกิดความรู้สึกร่วม สมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับฮิปโปแคมปัส ก็จะไม่ส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัส แต่จะย้ายข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยความจำชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลาที่คงอยู่ในสมองประมาณ 7-8 นาที จนถึง 3 วัน แล้วจึงถูกลบ
หากข้อมูลนั้นน่าตื่นเต้น สนุก กระทบใจ อมิกดาลาจะส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัสซึ่งจะแปลข้อมูลนี้ว่ามีความสำคัญ ฮิปโปแคมปัสก็จะส่งข้อมูลไปยังพื้นผิวสมองหรือคอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นสมองส่วนคิด และบันทึกเป็นความจำถาวร กลายเป็นคลังข้อมูลในสมองต่อไป
ด้วยหลักการทำงานของสมองดังกล่าว การเรียนรู้ที่ไม่ผ่านอารมณ์ ก็จะไม่ช่วยให้สมองเกิดการพัฒนาเท่าที่ควร
การอ่านที่สร้างความพึงพอใจ ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ จะทำให้เด็กจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้นาน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากเราเอาอะไร “ดีๆ” ใส่เข้าไปในหนังสือสำหรับเด็กอย่างแยบยล เด็กๆ จะเรียนรู้ได้น่าอัศจรรย์สักเพียงใด?
และที่สำคัญก็คือหลักการของ emotional brain กล่าวคือ อารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ และยังมีความพิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สมองของเรานั้นเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (unlimited learning)
ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน ก็ยิ่งรู้ว่าโลกแห่งการเรียนรู้นั้นกว้างใหญ่ไพศาล หนังสือที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินจึงเป็นการเปิดประตูสู่จักรวาลแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต
บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
コメント